ย้อนอดีตโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 นายแพทย์เชิด โทณะวนิก อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ดร.อาร์ เอส แอลลิสัน ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา จากสหราชอาณาจักร ดร.จอห์น ปริชาร์ด แพทย์ที่ปรึกษาทางกุมารประสาทวิทยา และนายแพทย์บุญสม มาร์ติน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่) ได้ร่วมพิจารณาจัดตั้ง “คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่” เป็นสาขาของโรงพยาบาลประสาทวิทยาพญาไท (โรงพยาบาลประสาทพญาไท) หลังจากนั้นจึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยาขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-พ.ศ.2514)

โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากคณะแพทย์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ได้จัดสรรที่ดินจำนวน12 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างตัวอาคารของคลินิกคลินิกศูนย์วิจัยประสาทเชียงใหม่ ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นโดยมีกองช่างสุขาภิบาลกรมอนามัยเป็นผู้ออกแบบ และบริษัทชัยสิริก่อสร้าง เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตึกอำนวยการและผู้ป่วยนอก บ้านพักแพทย์ บ้านพักพยาบาล โรงครัว โรงซักฟอก โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2 ล้านบาท และเปิดทำการรักษาเฉพาะผู้ป่วยนอก เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2511 ตามประกาศที่ 61/2511 ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2511 โดยนายแพทย์ประสพ รัตนากร แพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยาในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการคนแรก

คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) ดำเนินการวิจัยทางประสาทวิทยาร่วมกับโรงพยาบาลประสาทพญาไทและสถาบันการแพทย์อื่น

2) เพื่อบริการตรวจและรักษาโรคทางประสาทวิทยา หรือ โรคระบบประสาทแก่ประชาชนใน ภาคเหนือ

3) รับคนไข้ที่ส่งมาปรึกษาโรคทางระบบประสาท จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในภาคเหนือ

4) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยในการให้การศึกษาอบรมแก่นักศึกษาแพทย์ทางด้านประสาทวิทยา

5) ให้ความรู้เรื่องโรคของระบบประสาทแก่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

การตรวจคนไข้ทางประสาทวิทยา (Neurological Disorders)

คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่ รับตรวจและรักษาโรคที่มีอาการอัมพาต ปวดศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ ชัก อันได้แก่ โรคระบบประสาท (Diseases of the Nervous System) คือ

1. โรคอักเสบของประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ไขสันหลังอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ

2. โรคเนื้องอกของสมองและไขสันหลัง

3. โรคภยันตราย เช่น สมองถูกกระทบกระเทือนอันตรายต่อไขสันหลัง และ ปลายประสาท

4. โรคความพิการแต่กำเนิด เช่น สมองโตผิดปกติ ไขสันหลังกลวง ความพิการของกล้ามเนื้อ

5. โรคประสาทเหี่ยว เช่น โรคเนื้อสมองเหี่ยว ไขสันหลังเหี่ยว

6. โรคเกี่ยวกับการชัก เช่น ลมชัก ชักภายหลังการติดสุรา

7. โรคจากการแพ้พิษและขาดอาหาร เช่น แมงกานิส สารเคมี ยาพิษ และพวกกลุ่มปลายประสาทอักเสบ

8. โรคประสาทและกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเหี่ยวลับและอักเสบ

9. โรคหลอดโลหิต เช่น หลอดโลหิตสมองพิการ แตก ตีบ อุดตัน และหลอดโลหิตโป่งพอง

10. โรคทางระบบประสาทประเภทอื่นๆ ทางคลินิกวิจัย ไม่รับตรวจคนไข้ที่มีอาการทางจิต เช่น เพ้อคลั่ง ไม่รู้สติ หลงผิด แยกตัวเอง เชื่อผิด ระแวง และ อารมณ์พิการ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่

ในปีพ.ศ. 2511 คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่ มีนายแพทย์ประสพ รัตนากร เป็นผู้อำนวยการ และมีแพทย์ที่ปรึกษาอีกจำนวน 5 ท่านได้แก่ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน นายแพทย์ตะวัน วิริยะกุล นายแพทย์ฤกษ์เกษม นายแพทย์ จิระ สีตะสุวรรณ และแพทย์หญิงรังสี พรพิบูลย์ ซึ่งในระยะเริ่มแรกมีบุคลากร ทั้งสิ้นจำนวน 21 คน

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่ ได้เปิดรับผู้ป่วยเป็นครั้งแรก โดยมีแพทย์หญิงแสร้งสรรค์ ไกรสรรณ เป็นผู้รักษาการหัวหน้าแผนกและนายแพทย์รณกร ปฤชาบุตร เป็นแพทย์ประจำ มีจำนวนเตียง 55 เตียง

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นได้มาเยี่ยมชมคลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา และบริจาคเงิน 100,000.00 บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ 1หลัง

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2513เวลา 15.25 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดคลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่

ปี พ.ศ. 2514 คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา เชียงใหม่ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คลินิกประสาทวิทยา เชียงใหม่” และต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนชื่อคลินิกประสาทวิทยา เชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ เนื่องจากมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ของกองสุขภาพจิต กรมการแพทย์

ปี พ.ศ. 2520 กรมการแพทย์ ได้มีคำสั่ง ให้โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่เป็นโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกองสุขภาพจิตกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขโดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Chiang Neuropsychiatric Hospital”

ปี พ.ศ. 2525 โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้ขยายเตียงจาก 55 เตียง เป็น 100 เตียง ต่อมาปรากฎว่าจำนวนผู้ป่วยที่มาขอรับบริการตรวจรักษามีเพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงได้ทำการขยายตัวอาคารผู้ป่วยนอกใหม่เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2530

ปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบัน ได้ขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 240 เตียง ปี พ.ศ. 2536 ได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยให้โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคทางกาย หรือโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่มีหน่วยงานประสาทวิทยา และประสาทศัลยศาสตร์ ซึ่งเน้นการบริการแก่ประชาชนทางด้านประสาทวิทยา สังกัดกรมการแพทย์และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Chiangmai Neurological Hospital” ตามหนังสือที่ สธ. 0301/2207 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2536

ปัจจุบันโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีความรับผิดชอบดังนี้ เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา และประสาทศัลยศาสตร์ ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยีด้านประสาทวิทยา และประสาทศัลยศาสตร์ให้บริการตรวจ วินิจฉัยบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การสอนและฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆทางด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ การส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ เสนอความเห็นร่วมกับสถาบันประสาทวิทยาเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายและพัฒนาวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เก็บความจาก

นิทรรศการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย “จาก...คลินิกศูนย์วิจัยประสาทวิทยา ก้าวสู่...โรงพยาบาลประสาท

เชียงใหม่” ใน นิทรรศการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย เขตสุขภาพที่ 1 และจังหวัดเชียงใหม่. โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่.