คำว่า “หมอเมือง” หมายถึง หมอแผนโบราณ ทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยวิชาการที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย เป็นการรักษาตามประเพณีที่สืบทอดกันมา มีตำราหรือภาษาล้านนาเรียก “ปั๊บ” ตัวอักษรพื้นเมืองเป็นตำรา บอกสูตรยาสมุนไพร และเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้
องค์ความรู้และภูมิปัญญาของหมอเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาล้านนา ถือเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน เรียกว่ามรดกแห่งการรักษา (traditional healing) ซึ่งมีระบบการรักษาแบบองค์รวม (holistic) คือคำนึงถึง กาย จิต และ วิญญาณ ควบคู่กัน การรักษาแบบหมอเมือง ไม่ได้พึ่งแต่สารสังเคราะห์ที่สมัยใหม่เรียกว่า “ยา” แม้ว่าบางส่วนใช้สารที่ได้จากสมุนไพรในธรรมชาติ แต่หมอเมืองยังรวมไปถึงความเชื่อ จิตวิญญาณ และพลังชุมชนด้วย เรียกได้ว่า เป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม โดยมีเป้าหมายคือสันติสุขของบุคคลและชุมชน
“โหราเวช”
โหราเวช คือ วิชาพยากรณ์ปูมโรคในร่างกายมนุษย์ก่อนจะทำการรักษา โดยถือเอาตำแหน่งของดาวนพเคราะห์ที่โคจรในเรือนชะตาของแต่ละบุคคล ประกอบด้วยหลักวิชาปรวนแปรของธาตุเจ้าเรือน ภินนะ จรณะ มรณะ และกฎสภาวะ แวดล้อมของธรรมชาติเป็นตัวกำหนด นอกจากนี้ยังสามารถทำนายดวงชะตาของมนุษย์ได้อีก โหราเวชแบ่งวิธีบำบัดรักษาโรคได้ 3 สาขาใหญ่ ๆ คือ
1) เวชมนตรา คือ การรักษาโรคจริตของมนุษย์อันไม่ปรากฏมูลเหตุทางกายภาพที่ชัดเจน เช่น โรคลมพัดลมเพ โรคบริวิตกจริต โรคอันเกิดจากการกระทำทางคุณไสย ต้องพิษผีพิษโป่ง พิษพรายไร้ร่องรอย ผีเข้าเหล้าตือ
2) เวชปฏิสสะ คือ การรักษาโรคอันปรากฏให้เห็นทางกายภาพจากทวารทั้งสิบของมนุษย์ ใช้วิชาการแพทย์ มีเวชกรรม เภสัชกรรม ผดุงครรภ์ นวดไทย และวิชาอื่น ๆ ในหมวดแพทย์ทางเลือกบำบัดรักษาและแพทย์แผนปัจจุบัน
3) ญาณเวช คือ การรักษาด้วยสมาธิจิตระดับญาณสัมผัสไม่ต้องสัมผัสทางกายก็สามารถรู้อาการของโรคด้วยญาณทัศนะให้การรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนมากจะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเถระและหมอครูผู้เฒ่าผู้รจนาตำรายาไว้ในสมุดข่อย สมุดไท ปั๊บลาน ปั๊บสา ให้ได้สืบต่อ โหราตะ คือ ผู้ร่ายมนต์ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ศาสนพิธี ลัทธิพิธี ไสยพิธี รู้ศาสตร์ดวงดาวโคจรบนท้องฟ้า รู้ศาสตร์ความเป็นไปในวิถีความเป็นมนุษย์ มีพลังอิธิวิถีในตัวอย่างมาก มีจิตตะวาสะในการหยั่งรู้สูงยิ่ง โหระตะเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ปัจจุบันหมอโหราเวชหาได้น้อย เพราะเป็นวิชาที่สืบภายในตระกูล ส่วนหมอโหราพยากรณ์ยังหาได้ในสำนักโหราทั่วไป
“ตอกเส้นสิบสองไม้ครู”
การตอกเส้น คือ ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านล้านนาในการบำบัดรักษาช่วยเหลือตัวเองและชุมชนมาแต่โบราณ พัฒนามาจากหมอช้างหมอม้า ท่านเหล่านี้คลุกคลีอยู่กับการพยาบาลช้าง ม้า วัว ควายของเจ้าผู้ครองนครในเขตล้านนา มีความจำเป็นต้องใช้วัวต่าง ม้าต่าง ช้างต่างในการคมนาคมขนส่งตามภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงรกชัฏ พญาจักรเป็นบุคคลสำคัญเป็นหมอช้างหมอม้ามีวิชาอาคมมากอยู่แจ่งหัวลินทางทิศตะวันตกแจ่งเหนือ ในเขตกำแพงเมืองชั้นในเมืองเชียงใหม่ เป็นหัวน้ำไหลเข้าเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มีสวนสมุนไพรที่ใช้รักษาคนและสัตว์ มีโรงตีเหล็กทำมีดดาบ เกือกม้า ขอสับช้าง มีโรงไม้ทำล้อเกวียนดุมเกวียน แหย่งช้าง มีเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำงานหลายชนิด เป็นต้นกำเนิดของไม้ครูตอกเส้นสิบสองไม้ หมอตอกเส้นจะต้องเรียนรู้กายวิภาคสรีรวิทยาจากครูเก๊า ต้องรู้จักการใช้ไม้ครูที่รูปร่างลักษณ์แตกต่างกันออกไปให้ถูกที่ถูกทางถูกท่า รู้จักการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เช่น โรคกระดูกพรุน เบาหวาน เส้นเลือดเปราะ ความดันโลหิตสูง การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะภายใน อุบัติเหตุกระดูกหักมาก่อน ฯลฯ หมอตอกเส้นจะต้องมีเวทย์มนต์คาถาพอแก่การ ไม่เช่นนั้นของมักจะย้อนกลับเข้าตัวเอง ไม้ตอกเส้นจะต้องได้รับการปลุกเสกลงยันต์ ลงอาคมจากครูเก๊าก่อนนำไปใช้จึงจะเรียกว่า “ไม้ครู” ไม้ตอกเส้นมักจะทำมาจากไม้ขามแก่น ไม้เกล็ดดำแดง ไม้ดู่ดง ไม้งิ้วดำ ไม้ตายขานตายพราย ไม้ที่กล่าวมานี้ถ้าเป็นไม้ฟ้าฟาด (ไม้ที่ฝ้าผ่าและหักกลาง) จะขลัง เหมือนดังมีเมนต์สะกดกำราบโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในตัว ผีร้ายทั้งหลายเห็นไม้ครูก็ลนลานหนี
ตอกเส้นสิบสองไม้ครูรักษาได้หลายโรค เช่น โรคปวดเส้น ปวดเอ็น โรคปวดหลังเจ็บเอว (กระดูกทับเส้น) โรคลมโป่งลมพิษ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ปวดไหล่เอ็นเข้าแค๊ป (สะบักจม) โรคอันเกิดจากถูกกระทำด้วยคุณไสย และโดนพิษผีพิษโป่งพิษพรายไร้ร่องรอย
“ยาฝนยาต้ม”
ยาฝน คือ สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคด้วยวิธีการนำตัวยามาฝนกับน้ำกระสายแล้วให้ผู้ป่วยดื่ม ทาบริเวณที่มีอาการ ยาฝนที่ใช้รักษาโรคมักจะเรียกว่า ยาแก้ เช่น ยาฝนแก้กินผิดสาบผิด ยาฝนแก้ตุ่มแก้คัน ยาฝนแก้สันนิบาต ยาฝนแก้ขาง ยาฝนแก้ฝี ยาฝนแก้อีสุกอีใส ยาฝนแก้มะเฮ็งคุด ยาฝนแก้ลมบ้าหมู ยาฝนแก้นิ่ว ยาฝนแก้ห้ามฮาก (อาเจียน) ยาฝนตัดฮากสาน ยาฝนแก้ไข้ ยาฝนแก้มะโหก ยาฝนแก้ถอนพิษ เป็นต้น ยาฝนแต่ละป้าก (ตำรับ) จะมีตัวยามากน้อยตามกัน ดังตัวยาแก้ห้าต้น ประกอบด้วยตัวยา 5 ชนิด คือ หญ้าหมูป่อย เถาแตงเถื่อน หนาดคำ จุ่งจะลิง และดีงูหว้า ในอดีตชาวล้านนามักจะมียาฝนไว้ประจำบ้านหรือติดตัวไปตามที่ต่างๆ หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถฝนยารักษาได้ทันท่วงที เรียกว่า ยาแก้ทันใจ
ส่วน การฮิบยาต้ม เป็นการต้มเพื่อให้ได้ตัวยาสมุนไพรใช้ดื่มรักษาโรค เช่น แก้ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงร่างกาย เพิ่มพลัง เป็นต้น ยาต้มบางป้าก (ตำรับ) ก็ใช้ตัวยาสด บ่างป้ากก็ใช้ตัวยาแห้ง แต่ละป้ากจะมีตัวยาต่างกัน
“การย่ำขาง”
ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม หมอเมืองที่รักษาด้วยการย่ำขาง เรียกว่า “หมอย่ำขาง”
คำว่า “ขาง” เป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง(ผาลไถ สำหรับใช้ไถนา ขนาดประมาณ 8 x6 นิ้ว ปลายแหลม) เนื่องจากขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนาใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขางมีแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้ ในสมัยก่อนหากเด็กมีอาการเจ็บปากเจ็บลิ้น จะนำขางที่เผาแล้วไปแช่น้ำให้เด็กดื่ม ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้ หมอเมืองบางคนเชื่อว่าความร้อนจากขางจะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยได้ลึกกว่าการใช้โลหะอย่างอื่น
เก็บความจาก
- 10750 views