กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อัดแนวคิดกระทรวงการคลังรีดค่ารักษาพยาบาลจากคนรายได้เกิน 1 แสน ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เข้าข่ายถอยหลังเข้าคลองกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยืนยันไม่ควรมีใครต้องร่วมจ่าย เพราะหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของคนทุกคน
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงแนวคิดของกระทรวงการคลังที่ต้องการลดภาระงบประมาณของประเทศด้วยการให้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เฉพาะผู้มีรายได้ไม่ถึงปีละ 1 แสนบาทเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาท ให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 10-20 % (ดูข่าว ที่นี่) โดยระบุว่า เป็นแนวคิดที่ถอยหลังเข้าคลองกลับไปมากถึง 16 ปี
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า เจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพคือการให้หลักประกันอย่างถ้วนหน้ากับคนทุกคนโดยไม่เลือกว่าใครจะเป็นผู้ยากดีมีจนอย่างไร เพราะหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี และที่ผ่านมาทุกคนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วยไปแล้ว
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน วันนี้รวยอยู่ดีๆ แต่หากเกิดป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง พรุ่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นคนจนทันที ดังนั้นการแยกแยะความมีความจนจึงไม่ใช่สาระสำคัญ และการมีแนวคิดเช่นนั้นถือเป็นแนวคิดที่ถอยหลังกลับไปสู่ระบบการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ซึ่งเราก้าวข้ามมาแล้วตั้งแต่ปี 2545 จนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขึ้น ฉะนั้นการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น
“ในเมื่อวันนี้ทุกคนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นหมายความว่าคนที่มีสตางค์ก็ยิ่งควรได้สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เพราะคนที่รวยจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหากดูจากต่างประเทศ คนที่จ่ายภาษีมีสิทธิที่จะระบุหรือเลือกด้วยซ้ำว่าจะให้เอาภาษีเขาไปทำอะไร ดังนั้นวิธีคิดที่ว่าเป็นคนรวยแล้วรัฐไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบนั้น เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า หากกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล ก็ต้องเก็บจากผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการด้วย เพราะข้าราชการก็ได้รับการรักษาจากภาษีทั้ง 100% เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง คำถามคือแล้วเหตุใดข้าราชการจึงไม่ต้องร่วมจ่าย 10-20%
“ขอยืนยันว่าจริงๆ แล้ว ไม่สนับสนุนให้มีการร่วมจ่าย ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม แต่พอกระทรวงการคลังมีวิธีคิดเช่นนี้ มันยิ่งทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ” น.ส.สุภัทรา กล่าวและว่า ที่จริงแล้วเม็ดเงินที่เก็บได้จากการร่วมจ่าย 10-20% ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรกับระบบสุขภาพ
“เรื่องการร่วมจ่ายมีความพยายามผลักดันมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นั่นเพราะเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิด 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดที่มองว่ารัฐจะดูแลเฉพาะผู้ยากไร้ซึ่งก็คือแนวคิดสังคมสงเคราะห์ กับแนวคิดที่มองว่าหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องของสิทธิที่คนทุกคนควรได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมมาเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างดีขึ้น” น.ส.สุภัทรา ย้ำประเด็น
- 3 views