“NCD Forum 2018” จี้รัฐลงทุนจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุ ควักจ่าย 1 เหรียญ ได้ผลตอบแทนคืน 7 เท่า “พญ.สุพัตรา” เปิดตัวเลขการเงินด้านสุขภาพประเทศไทย ระบุ หมดกับการรักษา NCDs มหาศาล
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อ “NCD Forum 2018” ภายใต้กรอบคิด (ธีม) “Together, Let’s beat NCDs: ประชารัฐร่วมใจ ลดภัย NCDs” ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยในห้องย่อย SAPPHIRE 202 Health System มีการเสวนาหัวข้อ “Health financing การคลังเพื่อสุขภาพ” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 ราย
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค บรรยายในหัวข้อการคลังเพื่อสุขภาพโดยรัฐบาล (Government) ตอนหนึ่งว่า โรค NCDs เป็นตัวการสำคัญและเป็นภาระของการคลังด้านสุขภาพ กล่าวคือการคลังด้านสุขภาพของประเทศไทยจะล่มจมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสามารถจัดการกับ NCDs ได้ดีขนาดไหน เพราะสาเหตุการตาย 2 ใน 3 มาจาก NCDs และค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย NCDs ย่อมผูกพันเป็นระยะเวลานานหลายสิบๆ ปี จึงเป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่ยากจน
พญ.สุพัตรา กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าหากประเทศไทยไม่ลงทุนเพื่อจัดการกับ NCDs ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-3 เท่า โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การลงทุนแค่ 1 ดอลลาห์สหรัฐ จะได้เงินคืนกลับมากถึง 7 ดอลลาห์สหรัฐ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพูดเรื่อง Financing ทั้งในมิติของการให้บริการ และการลดปัญหาของประเทศ
“เรารู้ว่าภาระที่เกิดขึ้นจากการทำงานเรื่อง NCDs จะสูง และในขณะที่เรากำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปัญหาของ NCDs ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้นเรื่องการจัดการความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ ผลผลิตต่างๆ ของชาติก็จะลดลง แต่ถ้าคุณลงทุนในเรื่องนี้คุณก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น” พญ.สุพัตรา กล่าว
พญ.สุพัตรา กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงเรื่อง Financing ที่เกี่ยวข้องกับ NCDs ในส่วนแรกจะเกี่ยวข้องกับระดับปัจเจกคือตั้งแต่การรักษา การฟื้นฟู ไปจนถึงการส่งเสริมป้องกันโรค ส่วนต่อมาเกี่ยวพันกับระดับประชากรคือการควบคุมโรค ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง และต้องใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ เข้ามาแก้ไข เช่น กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ การกำหนดภาษีน้ำตาล ฯลฯ
“ถ้าจะแก้ปัญหาให้ดี จะต้องลงทุนที่ Population base ให้มากที่สุด เพราะลำพังถ้าเราทำแต่ในระดับปัจเจกเราจะพบว่ามันไม่แรงพอ ดังนั้นเราจึงต้องดูทั้ง 2 ด้าน” พญ.สุพัตรา กล่าว
พญ.สุพัตรา กล่าวต่อไปว่า การลงทุนด้าน Financing ของประเทศไทยในปัจจุบันที่ถูกนำไปใช้ทำงานในระดับประชากรส่วนใหญ่จะเป็นเงินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่วนการทำงานในระดับปัจเจกนั้นงบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองค่อนข้างครอบคลุมโรค NCDs ขณะที่งบประมาณอีกฟากหนึ่งมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ลงทุนในรูปแบบของหน่วยบริการและบุคลากร และฟากของครัวเรือนต่างๆ ที่ควักเงินจ่ายเอง
“จะพบว่าเงินสำหรับรักษา NCDs ผ่านทางโรงพยาบาลจะมาจาก 3 กองทุนประกันสุขภาพ แต่เฉพาะ สปสช.จะมีกองทุนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จะจ่ายท็อปอัพเชิงการบริหารจัดการและคัดกรองภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยข้อมูลปี 2557 ระบุว่าเงินในส่วนนี้มีประมาณ 50-70% ของเงินทั้งหมดทั่วประเทศ และยังมีเงินท็อปอัพการดูแลรักษาเฉพาะทางอีก 300-800 ล้านบาท (ไม่รวมงบเหมาจ่ายรายหัว) และในส่วน สธ.จะมีเงินจากโครงการต่างๆ อีกปีละ 10-20 ล้านบาท ขณะที่เงินจากตำบลจัดการสุขภาพมีอีกประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี และมีเงินจากนอก สธ. เช่น โครงการ สสส.อีก 400-800 ล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่อยู่ที่รักษาพยาบาลเป็นส่วนใหญ่” พญ.สุพัตรา กล่าว
พญ.สุพัตรา กล่าวว่า โดยสรุปแหล่งเงินทุนสำหรับลงทุนเรื่อง NCDs ของประเทศไทยมาจากหลายแหล่ง และครอบคลุมการรักษา การป้องกัน และการส่งเสริม ในทั้งระดับปัจเจกและระดับประชากร โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ที่การรักษาเป็นหลัก
- 400 views