ในอดีตที่ผ่านมา หลายท้องถิ่นเกิดปัญหารอบด้าน แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาสุขภาพ ที่หลายพื้นที่ ประชากรต้องพบกับความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย ด้วยสาเหตุหลายหลายปัจจัย ทั้งขยะล้นเมือง อาหารไม่ปลอดภัย ผู้สูงอายุและคนพิการขาดคนดูแล เยาวชนมีปัญหา ไม่มีหลักประกันในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน จึงทำให้หน่วยงานรัฐด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกำหนดแผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายและเป้าหมายในการทำงานของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และช่วยเหลือตัวเองในประเด็นปัญหาสุขภาพ
"ระบบสุขภาพชุมชน" หมายถึง ระบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันและทำให้เกิดสุขภาวะของประชาชนในชุมชน โดยความร่วมมือกันของสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรงโดยพยายามจัดวางเครื่องมือซึ่งมีโครงสร้างหลักเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ระบบการจัดการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ระบบการดูแลตนเองและช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้เกิดการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของชุมชน โดยกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชนจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องเช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กและสตรี ที่จะต้องมีระบบการดูแลฉุกเฉิน ระบบสวัสดิการ เพื่อการดูแลในด้านต่างๆ มีกลุ่มอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้
ทั้งนี้ 4 ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของแผนงานประกอบด้วย 1.การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โดยมีเป้าหมายในการสร้างตำบลต้นแบบ และตำบลเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง สามารถตอบสนองต่อปัญหาของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับพื้นที่อื่นๆรวมถึงวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และชุดประสบการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงในแต่ละพื้นที่ 3.การสังเคราะห์ทางวิชาการเพื่อการเรียนรู้ในระดับต่างๆ และขยายผลในระดับนโยบาย พัฒนานโยบายเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ อันเกิดจากการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ขับเคลื่อนสังคมและ 4.ขยายเครือข่ายเพื่อให้เกิดการรวมตัวของพื้นที่ตำบลต้นแบบในลักษณะเครือข่ายการเรียนรู้ และสร้างกระบวนการในการเกิดการขยายเครือข่าย เพื่อให้เกิดค่านิยมสุขภาวะชุมชนคือเป้าหมายและคุณค่าของการพัฒนา
สำหรับวิธีปฏิบัติงาน ด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่าทุกที่มีต้นทุนอยู่แล้ว การทำงานจึงเน้นสร้างและเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะทำงานจากชุดข้อมูลสุขภาพของชุมชน จากพื้นที่จริง โดยใช้คนทำงานจริงเป็นคนต้นแบบ อาทิ ผู้นำองค์กร กลุ่มแกนนำ กลุ่มชมรมต่างๆ กลุ่มอาสาสมัคร โดยใช้การพูดคุย เวทีประชาคมหมู่บ้าน หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ซึ่งผลลัพท์ที่เราต้องการในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คือชุมชนจะต้องเข้มแข็ง เกิดระบบในการดูแลผู้สูงอายุ ระบบในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ระบบของการดูแลฉุกเฉิน และอุบัติเหตุ พร้อมทั้งเกิดระบบเฝ้าระวังโรคและภาวะทางสังคม รวมถึงการสร้างระบบในการดูแลผู้ด้อยโอกาส ระบบสวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรชุมชนและสถาบันการเงินชุมชน
โดยพื้นที่ต้นแบบที่ สพช. และภาคีเครือข่ายได้เข้าไปร่วมสร้างกระบวนการในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็งนั้นกระจายไปทุกภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือที่ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออก ที่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ภาคใต้ ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือพื้นที่ ต.โคกสี จ.กาฬสินธุ์ และ ต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ตำบลพี่เลี้ยง ซึ่งหวังว่าต้นทุนของแต่ละพื้นที่จะกลายเป็นฐานความรู้ และกระจายการพัฒนาระบบสุขภาพสู่ชุมชนอื่นๆต่อไป โดยเบื้องต้นได้ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี จะมี 600 ตำบล ที่ประชาชนอยู่ดีมีสุข พึ่งตนเองได้ ไม่มีหนี้นอกระบบ ชุมชนจัดการสุขภาพตนเองได้ ดูแลกันเองได้ มีศักดิ์ศรี มีข้อตกลงร่วมกัน มีภาพอนาคตร่วมกัน และมีข้อมูลที่รู้เท่าทัน พร้อมทั้งเกิดการจัดการทรัพยากรภายในและเกิดการจัดการความรู้ ต่อรอง กับกลไกภายนอก รวมถึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่ม ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆพร้อมกันนี้ประชาชนจะต้องมีความรู้ ความสามารถดูแลตนเองได้ เลือกใช้บริการที่เหมาะสม บริหารการกินเพียงพอ คิดเป็นทำเป็น มีส่วนร่วม และมีบทบาทในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียน : พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555
- 8053 views