มสพช.-สสส. ชูวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนแนวใหม่ ลดโรค NCDs เสริมศักยภาพชุมชน เท่าทันเทคโนโลยี รับมือเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพก่อนเกษียณ ชี้ 1 ใน 5 เสี่ยงอัมพาต หลายโรครุมเร้า ชี้ “กินเป็น อยู่เป็น”คาถาเผชิญโรค
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรภาคี จัดการประชุมวิชาการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน ปีพ.ศ.2562 ในหัวข้อเรื่องการจัดการสุขภาพในสังคมพลวัตระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชนที่ใช้ฐานสาธารณสุขมูลฐาน บทเรียนการทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ สังคมดิจิทัล มีปัญหาสุขภาพและสังคมที่ซับซ้อน
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) กล่าวว่า มสพช.พัฒนาและจัดการความรู้ในระดับชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน และเพิ่มคุณภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นหน่วยบริการด่านแรกให้ร่วมมือกับประชาชนและชุมชน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เข้าใจความต้องการของประชาชน จัดการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ทั้งโรคไม่ติดต่อและจัดการดูแลผู้สูงอายุ เสริมสร้างศักยภาพให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน สามารถจัดการดูแลตนเองได้ดีมากขึ้น ไม่ต้องรอรับบริการรเพียงอย่างเดียว
“ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ต้องรอ เข้ามาร่วมมือกัน ทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง เตรียมความพร้อมของสุขภาพตัวเองก่อนที่จะถึงวัยสูงอายุ เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดโรคคือการรักษาที่ดีที่สุด และเมื่อจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพ ผู้จัดการระบบและบุคลากรสาธารณสุขต้องวางแผนและจัดระบบการดูแลที่มีคุณภาพ สอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน สังคมเกื้อกูล ท้องถิ่น ท้องที่ และทุกคนในชุมชนตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ พร้อมรับมือ ปรับตัว และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเท่าทัน”พญ.สุพัตรา กล่าว
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย (Thai NCD Alliance) กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุจะเผชิญกับปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในทุกประเทศทั่วโลกและประเทศไทย โดยโรคจะก่อตัวขึ้นช้าๆ ใช้เวลา 10-20 ปี โดยไม่ปรากฏอาการ เมื่อถึงจุดที่โรคเปิดเผยตัวจะมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเกิดภาวะทุพลภาพ ไม่สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญคือเมื่อเป็น 1 โรคแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นโรคที่ 2 ที่ 3 ตามมา
“ช่วงชีวิตของคนเรา 1 ใน 5 คนจะเป็นอัมพาต 1 ใน 50 คนจะเป็นเบาหวาน ทำอย่างไรไม่ให้เราคือคนนั้น เราสามารถป้องกัน NCDs ได้ โดย “กินเป็น อยู่เป็น” กินแค่พออิ่ม อาหารรสอ่อนหวาน อ่อนเค็ม ไม่มันจัด กินผักผลไม้ทุกมื้อ ไม่ดื่มเครื่องดื่มปรุงแต่งรส ดื่มน้ำเปล่าเป็นหลัก ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายประจำ รู้จักผ่อนคลายไม่เครียด ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดมลพิษ โดยดูว่าน้ำหนักตัว รอบพุง และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือถ้าเป็นโรคแล้วก็จะทำให้โรคสงบ ไม่รุนแรงขึ้นและไม่เพิ่มโรคมาอีก หากอยู่ในวัยสูงอายุ การ “กินเป็น อยู่เป็น” จะชะลอเวลาการเกิดโรคให้ช้าออกไปได้ ที่สำคัญ อยากให้ทุกคน ลดการบริโภคน้ำตาลและเกลือโซเดียม บริโภคอาหารมันหรืออาหารทอดน้ำมันแต่น้อย เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดี” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยกาสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ไตรพลัง” ตามคำประกาศออตตาวา (Ottawa Charter) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 5 ด้าน ได้แก่ สร้างนโยบายสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนกิจกรรมชุมชน พัฒนาทักษะบุคคล และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ซึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสสส.เน้นการพัฒนาและจัดการความรู้ สนับสนุนให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมทางกฏหมายและทางสังคม อาทิ การผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มปัจจัยเสริมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะและการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ใช้การสื่อสารการตลาดเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม ขยายแนวคิดความ รอบรู้ด้านสุขภาพให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยเด็กเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ตลอดจนประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ กลุ่มสถานะบุคคล ขับเคลื่อนงานลงสู่พื้นที่เป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการ สถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของภาคีภายใต้กลไกที่หลากหลายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่
ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้จาก Facebook: มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และเข้าถึงข้อมูล ความรู้ต่างๆได้ที่ www.thaiichr.org
- 225 views