สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว “โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค” เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการยุติวัณโรค พร้อมยกกรณีศึกษาโครงการจากการรับทุน TB Grant เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างโมเดลบูรณาการเชิงรุก หวังสร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งโครงการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับวัณโรคฯ เพื่อมุ่งลดอัตราการเกิดวัณโรคตามเป้าหมายของ WHO

วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ จากการคาดการณ์ทางระบาดวิทยา ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 120,000 รายต่อปี แต่มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการรักษาเพียงร้อยละ 60 และเสียชีวิตสูงถึงปีละ 12,000 ราย อัตราสำเร็จของการรักษาประมาณร้อยละ 80 ประเทศไทยมีเป้าหมายจะขจัดวัณโรคจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป ภายในปี พ.ศ. 2578

สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ดำเนินการ “โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค” (หรือ End TB Thailand Project) โดยกิจกรรมหลัก คือ ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการดูแลและควบคุมวัณโรค ปี 2561 (TB Grant 2018) เพื่อกระตุ้นให้โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและคิดหานวัตกรรมเพื่อการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค ซึ่งรวมถึงการให้ทุน TB Grant 2018 จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชน เสนอนวัตกรรมเพื่อการควบคุมวัณโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนวัตกรรมนั้นควรสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ

โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาโมเดลความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมกับเครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุน TB Grant เมื่อ พ.ศ. 2553 และได้ดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน สามารถขยายเครือข่ายให้ความรู้และเข้าถึงชุมชนได้ถึง 469 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 2,066 หมู่บ้าน

นับเป็นอีกโมเดลตัวอย่างที่ดำเนินงานได้โดยประชาชนมีส่วนร่วม หากได้นำแนวคิดและวิธีการไปปรับใช้และขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยได้ และมุ่งสู่เป้าหมายในการยุติวัณโรคใน พ.ศ. 2578 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก

พญ.ผลิน กมลวัฒน์

พญ.ผลิน กมลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย มีผู้ป่วยวัณโรคเกิดขึ้นใหม่ถึง 120,000 รายต่อปี วัณโรคเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ หากเราอยู่ในสถานที่ที่แออัด เช่น ในรถโดยสาร แท็กซี่ เครื่องบิน หรือสถานที่ปิด หรือแม้กระทั่งหากมีผู้ป่วย วัณโรคเดินในห้างสรรพสินค้าเกิดไอ จาม พูด หรือร้องเพลง ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในอากาศได้ ซึ่งวัณโรคไม่ได้ติดกันง่ายๆ แต่การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษา ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อวัณโรคได้ นอกจากนี้การมีภูมิต้านทานร่างกายที่ไม่แข็งแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ติดเชื้อ HIV ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ คนที่ติดเชื้อวัณโรคแล้ว 100 คน จะมีเพียง 10 คน เท่านั้น ที่จะป่วยเป็นวัณโรคในที่สุด ส่วนอีก 90 คน มักไม่ป่วยเป็นวัณโรค

วัณโรคได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาก โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งเป็นการระดมความคิดของภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก โดยหวังว่าหากได้มีการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์นี้แล้วจะลดอุบัติการณ์วัณโรคลงได้จาก 172 คนจากประชากร 100,000 คน เป็น 88 คนจากประชากร 100,000 คน เมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์นี้

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับกรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีการเร่งรัดการดำเนินงานวัณโรคแล้ว ยังได้มีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา โดยมีการลงทุนงบประมาณในการจัดตั้ง ‘TB Referral Center’ ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดยา รวมถึงเพื่อกำกับการกินยาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยศูนย์ฯ จะมีการส่งต่อผู้ป่วยที่วินิจฉัยแล้วจากสถานที่หนึ่ง แต่สมัครใจจะไปรักษาที่อื่น หรือส่งต่อผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่นทั้งในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด รวมถึงช่วยติดต่อสถานที่ทำ DOT (การกินยาโดยมีพี่เลี้ยงกำกับ) ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย มีการติดตามผลเมื่อรักษาครบ เปรียบเสมือนศูนย์กลางที่คอยประสานและติดตามผลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยวัณโรคที่ใช้บริการศูนย์ ‘TB Referral Center’ จำนวน 488 คน และผู้ที่สนใจสามารถติดต่อบริการได้ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00 – 16.00 น. ที่โทร. 0-2860-8208 หรือ LINE ID: refer.bma

สำหรับผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำเป็นต้องรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่องทุกเม็ด ทุกมื้อตลอด 6 เดือนจนหายขาด ซึ่งจะใช้ค่ายารักษาประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อราย ทั้งนี้รัฐบาลให้บริการการรักษาฟรี ทั้งค่ารักษาค่ายา แต่หากผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ และหรือหยุดยาเองจะทำให้เป็นวัณโรคดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนกลุ่มยาซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นเป็นหลักแสนบาท และต้องกินยาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และถ้าเป็นวัณโรคเชื้อดื้อยาขั้นรุนแรง ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย

ตัวอย่างของโครงการที่เคยได้รับทุน ซึ่งเน้นบทบาทของภาคประชาชน ริเริ่มโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จัดทำโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการค้นหาและดูแลผู้ป่วยวัณโรค โดยค้นหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานภาคประชาชน มีนายประธาน โชติชอบ ประธานชมรมเครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ ได้ระดมความร่วมมือจากประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมสนับสนุนภาครัฐในการควบคุมวัณโรคในพื้นที่ โครงการนี้ได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ และเงินจาก TB Grant เมื่อปี พ.ศ. 2553 อีกจำนวน 100,000 บาท รวมทั้งเงินสนับสนุนจากภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการโครงการฯ

นับจากวันนั้นถึงปัจจุบัน ชมรมเครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องตามแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์งานควบคุมป้องกันวัณโรคจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นเวลา 8 ปี มีผลสำเร็จของกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ มีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค และนำสู่ระบบการรักษา 192 ราย จากผู้ป่วยในระบบทั้งหมด 1,560 (ร้อยละ 12) ใน 34 เขตพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้ผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรคมีผลสำเร็จของการรักษาประมาณร้อยละ 76 – 84

นอกจากนี้ ยังมีการผลิตสื่อและจัดเวทีชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวัณโรคมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการได้ถึง 469 หมู่บ้าน ที่น่าสนใจคือสามารถจัดทำโครงการชุมชนเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และดำเนินงานตามโครงการเกือบทั้งหมดโดยภาคประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและตำบลเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนด้านวิชาการ ข้อมูลข่าวสารและการพัฒนาศักยภาพสมาชิกชมรมฯ

จากกรณีศึกษาของเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เห็นประโยชน์ของ TB Grant ในการกระตุ้นองค์กร หน่วยงานริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ และสามารถนำมาต่อยอดโครงการจนเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย ในปีนี้จึงได้จัดให้มีการประกวดนวัตกรรมในการควบคุมวัณโรคต่อไป โดยจัดมอบทุนให้โครงการที่ชนะเลิศ โครงการละไม่เกิน 100,000 บาท (ทุนสนับสนุนรวม 300,000 บาท) โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 14 ธันวาคม 2561 สามารถสอบถามรายละเอียดการขอรับทุนผ่านช่องทางอีเมล TBGrant@gmail.com