คนไทย 20 ล้าน มีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ในตัวเอง แต่ยังไม่ถึงขั้น “เป็นโรค” แนะเร่งติดตามในกลุ่มเสี่ยงป้องกันขยายเป็นโรค ขณะที่ 3 กองทุนสุขภาพให้สิทธิประโยชน์รักษาครอบคลุม ผอ.สำนักวัณโรค ระบุ ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยคือไม่รับประทานยาต่อเนื่อง จนทำให้ดื้อยา ส่งผลให้ค่ารักษาแพงกว่าเดิม 50 เท่า
พญ.ผลิน กมลวัทน์
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค หรือประเทศที่ยังมีปัญหาวัณโรคสูงอยู่ โดยทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคเฉลี่ยปีละ 1.2 แสนราย และมีผู้ได้รับเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกายแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย (ติดเชื้อในระยะแฝง) อีกราวๆ 20 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนกใดๆ
พญ.ผลิน กล่าวว่า หลักสำคัญในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็คือ “ค้นให้พบ-จบให้หาย” ซึ่งหมายถึงการค้นหาตัวผู้ป่วย และขณะนี้หมายถึงผู้ที่ติดเชื้อในระยะแฝงที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคด้วย โดยนำคนกลุ่มนี้มารักษา รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จนหายจากโรคในท้ายที่สุด
“ปัญหาของผู้ป่วยวัณโรคคือคนไม่กินยา ต้องเข้าใจก่อนว่าวัณโรคทั่วไปต้องกินยาวันละเป็นสิบๆ เม็ด ติดต่อกัน 6 เดือน ผู้ป่วยจึงไม่อยากกิน กินไม่ครบ หรือกินไม่ต่อเนื่อง ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้เขาเป็นมากขึ้นคือเป็นวัณโรคดื้อยา ซึ่งมีค่ารักษาแพงกว่าเดิมอีก 50 เท่าตัว และในอดีตต้องกินยาควบคู่ไปกับการฉีดยาด้วย” พญ.ผลิน กล่าว
พญ.ผลิน กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันมีการคิดค้นยากินแทนยาฉีดให้กับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาแล้ว และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ให้สิทธิประโยชน์ยานี้ครอบคลุมกับผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสะดวกในการรับประทานและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาด้วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา
ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยมุ่งเน้นการรักษาแก่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคแล้ว แต่ไม่ให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดเชื้อ ทว่าปัจจุบัน WHO รวมถึงประเทศไทยเองเห็นตรงกันว่า หากไม่ให้ความสำคัญกับคนที่ติดเชื้อในระยะแฝงอีก 20 ล้านคน ก็จะไม่มีทางที่จะปราบวัณโรคให้หมดไปได้อย่างแน่นอน
“แน่นอนว่า 20 ล้านคน เป็นจำนวนที่มากมหาศาล ดังนั้นการทำงานก็คือจะดูตามความเสี่ยง หมายถึงดูว่าผู้ที่มีเชื้อวัณโรคกลุ่มใดที่ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอจนเชื้อนั้นมีโอกาสขยายกลายเป็นโรคได้ ซึ่งจะผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตลอดจนผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีผู้ป่วยวัณโรค จากนั้นก็จะค่อยๆ ขยายออกไปเป็นวงกว้างเรื่อยๆ” ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ กล่าวว่า วัณโรคหากรักษาเร็วก็จะง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก แต่หากผู้ป่วยเกิดภาวะดื้อยาแล้วก็จะรักษายากและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยปัจจุบัน 3 กองทุนประกันสุขภาพ ให้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยารักษาวัณโรคทั่วไปอย่างครอบคลุม แต่ในส่วนของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปนั้น ระบบบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการ ให้สิทธิประโยชน์ยารับประทานแทนยาฉีดแล้ว ส่วนประกันสังคมยังใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดยาอยู่ ซึ่งสำนักวัณโรคอยู่ระหว่างเจรจากับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนเป็นการใช้ยาฉีดด้วย
พญ.อลิศรา ทัตตากร
พญ.อลิศรา ทัตตากร ผู้อำนวยการกองควบคุม โรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.คาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรค 1.3 หมื่นราย โดย กทม.ค้นหาพบ 1.2 หมื่นราย เหลืออีก 1,000 รายที่ต้องค้นหาต่อไป โดยการรักษาผู้ป่วยนั้น มีผู้ที่รักษาสำเร็จ 77% นั่นหมายความว่า อีก 23% เป็นผู้ที่กินยาไม่ต่อเนื่อง ขาดการรักษา ซึ่งคนเหล่านี้จะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นต่อๆ ไปอีก
ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดสายด่วนหมายเลข 02-860-8208 ทำหน้าที่ช่วยประสานงานเกี่ยวกับการรักษาวัณโรค การย้ายโรงพยาบาล ให้คำปรึกษาปัญหาที่เกิดจากการรับประทานยา ฯลฯ ซึ่งสามารถติดต่อได้ในเวลาราชการ
อนึ่ง WHO ได้คาดประมาณอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) ของโลก สูงถึง 10.4 ล้านคน และมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 1.7 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปี 2559 พบว่ามีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาโรควัณโรค 70,114 ราย เป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 955 ราย และดื้อยาขั้นรุนแรง 13 ราย
- 325 views