สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนการดำเนินงานของ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน” สำนักวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในมิติทางสังคม และนำความรู้นั้นไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่หรือพัฒนาสู่การเป็นนโยบายต่อไป โดยมี นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการ สวรส. และ ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.มหิดล ร่วมลงนาม ณ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล จ.นครปฐม
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้ย้ำถึงปัญหาความเป็นธรรมทางสังคม ที่เป็นความท้าทายของการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่เน้นให้ สวรส.ประสานการดำเนินงานกับเครือข่ายซึ่งไม่เฉพาะแต่เครือข่ายด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ยังครอบคลุมการดำเนินงานวิจัยที่ต้องเข้าใจปัญหาสังคมไทยอย่างแท้จริง เช่น งานศึกษาวิจัยการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานภายในประเทศที่ออกมาทำงานข้ามจังหวัดโดยไม่ได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้าน ซึ่งต้องเข้าใจถึงปัจจัยและบริบทที่เกี่ยวข้อง อะไรที่เขายังมีความต้องการหรือยังขาดโอกาสอะไรจากระบบบริการสาธารณสุข เพื่อนำไปกำหนดแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น
ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์
ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ในปี 2560-2564 มหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายการทำงานวิชาการเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมีสุขภาวะ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยฯ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นหน่วยปฏิบัติการสำคัญในการดำเนินงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย และพัฒนาศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และการใช้ความรู้เพื่อการพัฒนาในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับคนทำงาน กับเครือข่ายวิจัย และกลุ่มประชากรเป้าหมาย
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง
รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การทำงานของศูนย์ฯ มีเป้าหมายเพื่อใช้งานวิชาการเพื่อสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล เป็นธรรม โดยเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบางและขาดโอกาสในสังคม โดยเฉพาะ เด็กและครอบครัว เด็กพิการ เด็กต่างด้าว เยาวชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเพศทางเลือก ฯลฯ การทำงานจะครอบคลุมทั้งในมิติสุขภาพ สังคมและการศึกษา โดยแผนการดำเนินงานหลักของศูนย์ฯประกอบด้วย 4 ด้านหลักคือ
1.การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองดูแลสุขภาวะเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสในสังคม เช่น แนวโน้มสถานการณ์เด็กและครอบครัวเร่ร่อนในเมืองใหญ่ การดูแลคุ้มครองเด็กข้ามรัฐบริเวณพื้นที่ชายแดน การดูแลช่วยเหลือเด็กพิการเร่รอน
2.การขับเคลื่อนการทำงานผ่านพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง
3.การสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อผลการวิจัยกับนโยบาย
และ 4.การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและวิชาการ ให้กับคนทำงานด้านประชากรกลุ่มเปราะบาง
สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป
- 63 views