ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ปาฐากถาพิเศษเรื่อง “งานบันดาลใจ” เผย งานที่ดีช่วยให้มนุษย์ตอบคำถามในวาระสุดท้ายของชีวิต ระบุ 3 เงื่อนไขหล่อเลี้ยงวิญญาณและพลังใจ ชี้ 8 ปัจจัย ที่ทำให้บุคลากรในระบบสุขภาพมีความสุข
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “งานบันดาลใจ” ภายในงานมหกรรม “รวมพลคนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เขต 5” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ตอนหนึ่งว่า หลายปีก่อนมีโอกาสไปทำวิจัยที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ทำให้พบเรื่องราวมากมาย หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของตาเกล้าและยายค่ำซึ่งมีฐานะยากจน ทั้งสองตายายได้สะสมเงินก้อนหนึ่งแล้วยกให้หลานชายโดยหวังจะฝากผีฝากไข้ยามแก้ชรา แต่สุดท้ายหลานชายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทุกวันนี้ตาเกล้าและยายค่ำประทังชีวิตได้ด้วยเบี้ยผู้สูงอายุ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ
“สมัยที่ผมทำงานวิจัยนั้นมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่บัตรทองจะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีคนทำงานในพื้นที่ แม้ว่าเขาจะมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่เขาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เลยถ้าไม่มีคนทำงานในพื้นที่เข้าไปหาเขา ถ้าไม่มีคนทำงาน ประเทศไทยจะมีตาเกล้ากับยายค่ำอีกหลายคน” นพ.โกมาตร กล่าว
นพ.โกมาตร กล่าวว่า คนเหล่านี้ต้องเผชิญชีวิตโดยลำพัง เราจึงต้องไปดูแลเขา ฉะนั้นถ้าเราท้อเขาก็จะยิ่งย่ำแย่ แต่ก็เข้าใจว่างานทุกวันนี้ทำได้อย่างยากลำบาก มีภาระงานมาก มีตัวชี้วัดและระเบียบมากมาย คำถามก็คือแล้วอะไรเป็นสิ่งที่จะประคับประคองให้เราสามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งงานที่ดีที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราได้ อาจเรียกได้ว่าเป็นงานบันดาลใจ
นพ.โกมาตร ได้ยกตัวอย่างชีวิตของแมททิว โอเรลลี่ ผู้ปฏิบัติงานในทีมแพทย์ฉุกเฉิน ในนครนิวยอร์ค ซึ่งต้องทำงานกับความเป็นความตายของผู้คนตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาเขาไม่กล้าที่จะบอกความจริงกับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใกล้ตาย จนกระทั่งมีเคสของเด็กหนุ่มประสบอุบัติเหตุและถามเขาว่าตัวเองจะตายไหม เขาหลุดปากไปว่าต้องตายแน่ๆ ซึ่งแทนที่เด็กหนุ่มจะกลัวกลับตั้งสติแล้วให้ต่อสายโทรศัพท์ถึงแม่เพื่อสั่งเสียงเรื่องสำคัญที่ยังค้างคา นั่นทำให้แมททิว โอเรลลี่ เปลี่ยนแปลงความคิดและตัดสินใจพูดความจริงกับคนที่ใกล้ตาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ป่วยเอง
นพ.โกมาตร กล่าวว่า แมททิว โอเรลลี่ ได้สรุปผลจากการพูดคุยกับคนที่ประสบอุบัติเหตุและอยู่ใกล้ความตาย โดยเขาเหล่านั้นไม่ว่าจะรวยหรือจน มีการศึกษาสูงหรือต่ำ ล้วนแต่มีความต้องการเหมือนๆ กัน 3 อย่าง ได้แก่ 1.อยากได้รับการให้อภัยเพื่อพ้นจากความรู้สึกผิดในเรื่องที่เคยกระทำไว้ 2.อยากถูกจดจำไว้ในความทรงจำของคนข้างหลัง 3.อยากจะแน่ใจว่าชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองมีความหมาย ไม่ได้ใช้เวลาในชีวิตไปกับสิ่งที่ไร้สาระ
“ผมเชื่อว่า 3 คำถามนี้ เป็น 3 คำถามที่ทุกคนจะต้องตอบเหมือนกัน และในชีวิตการทำงานเราก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้เช่นเดียวกัน เราจะทำงานอย่างไรไปจนถึงวันสุดท้ายของการทำงานแล้วเหลืออะไรหล่อเลี้ยงเราบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วงานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเราเอง” นพ.โกมาตร กล่าว
นพ.โกมาตร กล่าวต่อไปถึงชีวิตของนักไต่เขาระดับโลก Hugh Herr ต่อไปว่า ตลอดชีวิตของ Hugh Herr เลือกที่จะปีนเขาที่มีความยากมากขึ้นๆ จนกระทั่งวันหนึ่งในขณะปีนเขาอยู่เกิดอากาศแปรปรวน หิมะตกหนักและท่วมขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับหน้าอก ไม่สามารถเดินต่อได้ จึงขุดโพรงหลบซ่อน รู้สึกทรมานแต่ไม่สามารถฆ่าตัวตายได้เนื่องจากตัวแข็งขยับไม่ได้ สุดท้ายหมดสติไป และหน่วยกู้ชีพมาช่วยชีวิต แต่ตื่นขึ้นมาขาขาด 2 ข้าง
“เขาถามแพทย์ว่าเขาจะกลับไปปีนเขาได้อีกหรือไม่ แพทย์ตอบมาว่าไม่ได้ นั่นทำให้เขาซึมเศร้าอย่างรุนแรง จนกระทั่งวันหนึ่งเขาคิดได้ว่าแพทย์จะรู้เรื่องการปีนเขามากกว่าตัวเองได้อย่างไร เขาจึงเริ่มดัดแปลงอุปกรณ์ขาเทียมและกลับไปหัดปีนเขาไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว Hugh Herr ปีนเขาชนะคนปกติ และได้ชีวิตตัวเองคืนกลับมา” นพ.โกมาตร กล่าว
นอกจากพัฒนาขาเทียมสำหรับปีนเขาแล้ว Hugh Herr กลับมาพบอีกว่าทั่วโลกยังมีคนขาขาดจากสงคราม จากอาการป่วย ฯลฯ เขาจึงพยายามสร้างขาเทียมขึ้นมาและไปศึกษาเพิ่มเติม ภายใต้ความเชื่อที่ว่าโลกนี้ไม่มีผู้พิการมีแต่เทคโนโลยีที่ยังไม่ได้พัฒนา จนทุกวันนี้บุคคลระดับโลกใช้ขาเทียมจาก Hugh Herr ทั้งสิ้น
“คำถามคือทำไมบางคนล้มแล้วลุกไม่ขึ้น แต่ทำไมคนบางคนเจออุปสรรคแล้วสามารถลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้อีกและมีศักยภาพสูงกว่าเดิม” นพ.โกมาตร กล่าว
สำหรับ 3 ปัจจัยของแรงบันดาลใจที่จะไม่ท้อถอย ประกอบด้วย 1.Mastery การยกระดับความสามารถของตัวเอง คือการยกระดับความสามารถการเติบโตเต็มศักยภาพความเป็นมนุษย์ 2.Autonomy การมีอำนาจที่จะเลือกในสิ่งที่ทำ 3.Purpose การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แสวงหาความหมายในงานที่ทำ ถ้าเป้าหมายปลุกคนทำงานไม่ได้ วิญญาณก็จะตายไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ Mihaly Csikszentmihaly นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวไว้ว่า ห้วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตเรานั้นไม่ใช่เวลาที่เราอยู่เฉยๆ เฉื่อยชา หรือกำลังผ่อนคลาย แต่มันเป็นห้วงขณะที่ร่างกายและจิตใจของเราถูกใช้งานเต็มขีดความสามารถของมัน ในความพยายามที่เป็นไปอย่างสมัครใจเพื่อที่จะบรรลุซึ่งความสำเร็จที่ยากลำบากแต่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งสภาวะที่จิตเป็นหนึ่งเดียวกับงานเรียกว่า Flow คือความไหลลื่น
นพ.โกมาตร กล่าวโดยสรุปว่า บุคลากรในระบบริการสุขภาพจะมีความพึงพอใจในงาน เมื่อได้ทำงานที่ 1.ได้ใช้ความรู้ความสามารถ 2.ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ 3.มีอำนาจในการเลือก 4.มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ 5.ภาคภูมิใจในความสำเร็จ 6.ได้รับการยอมรับ 7.ได้พัฒนาตนเองให้ดี-เก่งขึ้น 8.ได้มอบมรดกแก่คนรุ่นหลัง
- 135 views