นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้นมา กระบวนการรณรงค์ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ของเมืองไทยได้ถูกขับเคลื่อน โดยเฉพาะในแง่ของการสื่อสารสร้างการรับรู้แก่สังคม กระบวนการผลักดันการออกกฎหมายควบคุมการบริโภคสุราและบุหรี่ การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ การรณรงค์ออกกำลังกาย ตลอดจนการขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะมิติต่างๆ ผ่านกลไกภาคีเครือข่าย
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง แนวทางการทำงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น
ถึงเพดานความสำเร็จ
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ให้ความเห็นว่า งานรณรงค์ลดความเสี่ยงสุขภาพในมิติต่างๆ ของไทย ดำเนินการอย่างมากมายและเริ่มมาถึงเพดานความสำเร็จ เช่น การรณรงค์งดสูบบุหรี่ แม้จะมีกฎหมายห้ามโฆษณาทางสื่อและมาตรการอื่นๆ มาหลายปี แต่พบว่าสัดส่วนนักสูบโดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ลดลงน้อยมากจนแทบไม่มีนัยยะสำคัญ หรือการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ รณรงค์ใส่หมวกกันน็อกที่ทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ตัวเลขอุบัติเหตุก็ไม่ได้ลดลง เป็นต้น
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ประกอบกับทิศทางการรณรงค์ที่ผ่านมา มีบางส่วนที่มีลักษณะของการตีตรา ทำให้เป็นอาชญากรรม หรือทำให้เป้าหมายกลุ่มเสี่ยงเป็นคนอื่น เช่น จน เครียด กินเหล้า ให้เหล้าเท่ากับแช่ง งดเหล้าเข้าพรรษา อาจกลายเป็นกระแสตีกลับจนเกิดการต่อต้านหรือผลักคนทำงานด้านการรณรงค์ให้เป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มเป้าหมาย
ด้วยเหตุนี้ ทาง สวสส. และ สสส.จึงได้หารือกัน และเกิดเป็น “แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ” เพื่อนำมุมมองทางด้านด้านวัฒนธรรม มาช่วยศึกษาวิเคราะห์และจำแนกเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงในแต่ละประเด็นให้ละเอียดขึ้น ให้เข้าใจถึงพลังทางวัฒนธรรมบางอย่างที่กำกับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา มาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การออกแบบรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาที่ได้นี้ จะนำไปพิจารณาประกอบการปรับแผนยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. ในระยะ 5-6 ปีข้างหน้าด้วย
มองพฤติกรรมความเสี่ยงผ่านเลนส์วัฒนธรรม
นพ.โกมาตร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความเสี่ยงสุขภาพในปัจจุบัน จะมีมุมมองทางการแพทย์เป็นแกนหลักว่าสิ่งใดทำให้เกิดโรคถือว่าสิ่งนั้นเป็นปีศาจร้าย เป็นการดูแนวโน้มพฤติกรรมเสี่ยงโดยขาดการแยกแยะทางสังคมวัฒนธรรมแต่ในทางมานุษยวิทยา หากใช้แนวคิดว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอิสระจากสังคมและวัฒนธรรม ก็จะมีวัฒนธรรมบางอย่างกำกับให้พฤติกรรมเสี่ยงนั้นๆ เกิดขึ้น หรือช่วยอธิบายได้ว่าพฤติกรรมเสี่ยงแต่ละอย่าง เป็นการแสดงออกในทางวัฒนธรรมอย่างไร
นพ.โกมาตร ยกตัวอย่าง สุราและกาแฟว่าทั้ง 2 อย่างนี้ ทำหน้าที่เหมือนกันในทางสังคม คือทำหน้าที่เป็นสัญญะการเปลี่ยนผ่านกิจกรรม หรือเหมือนเป็นประตูกั้นการเปลี่ยนกิจกรรรมของคน คือเปลี่ยนจากการทำงานไปสู่การพักผ่อนโดยใช้สุราเป็นตัวกั้น ในทางกลับกันหากพักผ่อนแล้วต้องการทำงานก็จะเอากาแฟเป็นตัวกั้น ซึ่งในเมืองไทยก็ยังไม่ทราบว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น บุหรี่ ทำหน้าที่ทางสังคมอย่างไร
หรือหากเป็นเรื่องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ หากมีสี่แยกที่ไม่มีไฟแดง แล้วคนขับรถใช้อะไรเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเพื่อหลบหลีกไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนักในเมืองไทย ซึ่งถ้าหากสามารถศึกษาจนเข้าใจ ก็จะปรับวิธีการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
นพ.โกมาตร ยกตัวอย่างอีกว่า การรณรงค์ลดดื่มเหล้าที่ผ่านมาเป็นการสร้างภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่ดื่มเหล้า แต่ในความเป็นจริงคนที่ดื่มเหล้ามีหลายแบบ ทั้งการดื่มแบบวัยรุ่น แบบนักศึกษา คนทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ฯลฯ แต่ละกลุ่มก็มีการดื่มที่ต่างกันทั้งในเชิงวิธีคิด พฤติกรรมและความเชื่อ ดังนั้น หากทำงานเกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพโดยขาดการจำแนกแยกแยะ ก็จะทำให้การทำงานงานเข้าถึงเฉพาะบางกลุ่มและไม่สามารถเห็นได้ว่าความหลากหลายเหล่านี้ต้องการวิธีทำงานที่ต่างกัน
“ทำงานแบบนี้ก็ต้องดูว่าแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมีพฤติกรรมการดื่มอย่างไร มีอัตลักษณ์ในสังคมอย่างไร มีอาชีพอะไร พื้นที่ทางสังคมเป็นแบบไหน สถานที่ดื่มดื่มที่ไหน กับใคร เวลาไหน มันมีแง่มุมที่หลากหลาย หากสามารถทำความเข้าใจก็จะช่วยให้ทำงานได้ละเอียดขึ้น เช่น บางกลุ่มดื่มอยู่ที่บ้านก็ไม่ต้องควบคุมมาก บางกลุ่มดื่มแล้วขับก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิดปัญหา อย่างในต่างประเทศใช้วิธีให้บาร์เทนเดอร์เป็นคนกำหนดว่าใครที่ควรดื่มต่อ/ใครที่เมาและไม่ควรดื่มแล้ว หรือในเนเธอร์แลนด์ ก็ใช้แนวคิดลดความรุนแรง (Harm Reduction) เช่น หากดื่มเหล้านอกผับต้องใช้แก้วพลาสติก เพื่อที่หากเกิดการทะเลาะวิวาท จะช่วยลดอันตรายลง เป็นต้น” นพ.โกมาตร กล่าว
เน้นศึกษา 7 ความเสี่ยงสุขภาพ
ด้าน ประชาธิป กะทา นักวิจัย สวสส. ผู้รับผิดชอบแผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ กล่าวว่า แผนงานนี้จะศึกษาประเด็นทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพทั้งหมด 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สุรา 2.บุหรี่ 3.อุบัติเหตุ 4.ยาเสพติด 5.ภัยพิบัติ 6.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และ 7.การพนัน
ประชาธิป กะทา
อย่างไรก็ดี ในระยะ 3 ปีแรก จะทำการศึกษาใน 4 ประเด็นก่อน คือเรื่องสุรา บุหรี่ อุบัติเหตุ และยาเสพติด โดยขั้นตอนการศึกษาขณะนี้ อยู่ในขั้นของการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดูว่ามีองค์ความรู้อะไรที่รับรู้และสรุปร่วมกันในองค์ความรู้ และเมื่อทบทวนวรรณกรรมแล้วพบว่ายังมีช่องว่างของความรู้ในประเด็นใดที่ต้องศึกษากันต่อไป ก็จะนำช่องว่างขององค์ความรู้ในประเด็นนั้นมาพัฒนาเป็นโจทย์การวิจัยระยะ1 ปีต่อจากนี้
ทั้งนี้ นอกจากการทบทวนองค์ความรู้จากการอ่านงานวิจัยแล้ว ยังมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นอีกหลายครั้ง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญรวมถึงคนทำงานรณรงค์ในระดับพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าการขับเคลื่อนในปัจจุบันมีจุดอ่อนอะไร และจะทะลุเพดานความคิดการมองประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างไร
“วิธีการทบทวนอีกแบบคือการไปเยี่ยมศูนย์วิจัยต่างๆ เช่น คุยกับศูนย์วิจัย ศวปถ. ซึ่งทำเรื่องอุบัติเหตุ หรือเมื่อไม่นานนี้ก็นัดคุยกับอาจารย์สาวิตรี (ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา) และเครือข่ายเอ็นจีโอที่เกี่ยวกับการงดเหล้า ทั้งหมดก็เป็นกระบวนการทบทวนว่าคนที่ทำงานด้านนี้มีช่องว่างอะไรบางอย่างที่เขาอยากรู้แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างเช่นเขาเข้าใจว่าเยาวชนไม่ได้ passive แต่งานรณรงค์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเยาวชน passive ธุรกิจแอลกอฮอล์พูดอย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น แต่จริงๆ กลับพบว่าเด็กพวกนี้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นผลเสียอะไรเป็นผลดี แค่สมมุติฐานที่ว่าเด็กรับรู้อะไรก็เข้าใจอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้องแล้ว เมื่อคนทำงานรู้แบบนี้แล้วจะ Deal กับปัญหาอย่างไรต่อ นี่เป็นมิติทางวัฒนธรรมที่คนทำงานกำลังเผชิญอยู่” ประชาธิป กล่าว
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปหลังจากการทบทวนวรรณกรรมและพัฒนาโจทย์ในการวิจัยแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนหนึ่งก็ได้นำมาทดลองเสนอเป็นแนวคิดทางเลือกให้แก่คนทำงาน อาทิ แนวคิด Harm reduction ในแวดวงยาเสพติด ตัวอย่างเช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ คนติดยาเสพติดที่ไม่สามารถทำงานได้จะได้รับเงินเดือนสูงกว่านักศึกษาไทยที่ได้ทุน ก.พ. เสียอีก
“มันมีแนวคิดว่าทำแบบนี้ได้เหรอ แต่จริงๆ มันลดอาชญากรรมทางสังคมได้มาก คนติดยาก่ออาชญากรรมเพราะไม่มีเงินไปซื้อยา รัฐเลยให้เงินไปซื้อ แต่อย่าเข้ามาในเขตเมือง ไม่มาก่ออาชญากรรมในเมือง เป็นต้น แต่แนวคิดเรื่อง Harm Reduction หากจะทดลองนำมาใช้ในเมืองไทย อาจต้องระมัดระวัง เพราะเรื่องนี้ในไทยถูกบริษัทผู้ผลิตนำไปใช้แล้ว พอคนทำงานจะพูดเรื่องนี้ก็จะไปเข้าทางบริษัทแอลกอฮอล์หรือบริษัทบุหรี่เลย ดังนั้นพอมันก้ำกึ่งมีเงื่อนไขบางอย่าง คนทำงานก็ทำงานได้ค่อนข้างจำกัด แม้ว่าจะเห็นด้วยว่าเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งนี่ก็เป็นอีกโจทย์ของเราว่าจะมีข้อเสนอจากงานวิจัยอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องเผชิญแบบนี้ ทำอย่างไรจะช่วยคนทำงานได้” ประชาธิป กล่าว
ทั้งนี้ การส่งเสริมงานวิจัยในแผนงานนี้จะมีหลายรูปแบบ เช่น นอกจากสนับสนุนการทำงานวิจัยในแต่ละประเด็นแล้ว ยังต้องการพัฒนาความรู้ระบาดวิทยาเชิงวัฒนธรรมและจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้นักระบาดวิทยามีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายคือการนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น มาสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงกระบวนการสื่อสารให้สาธารณะได้รับรู้นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก Facebook/Culture and Health Risks และ http://blog.tutorming.com/
- 92 views