ขอเชิญบุคลากรด้านสุขภาพสมัครเข้าร่วม หลักสูตร “ระบาดวิทยาวัฒนธรรม” เพื่อช่วยขยายกรอบคิดและความเข้าใจต่อพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงได้อย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เผยการทำงานด้านระบาดวิทยาในปัจจุบันขาดการนำมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมมาร่วมวิเคราะห์และพิจารณาหาความสัมพันธ์กับสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บและพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่ามีแบบแผนทางวัฒนธรรมในลักษณะใดบ้างที่กำกับแบบแผนการเกิดโรคและพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คนในแต่ละวัฒนธรรม หรือมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ปัจเจกบุคคลตัดสินใจเลือกเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเสี่ยงสุขภาพต่างๆ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สุขภาพมีการให้ความรู้สุขศึกษาและรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง และในหลายกรณีได้ออกเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมป้องกันความเสี่ยงสุขภาพแล้วด้วยก็ตาม
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า ในแต่ละสังคมวัฒนธรรมจะมีค่านิยมเกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการแสดงออกหรือปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
ทำงานของแผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าความเสี่ยงสุขภาพสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมที่ปัจเจกบุคคลเลือกแสดงออกได้อย่างอิสระ หากแต่มีเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม การกล่อมเกลาทางสังคม หรือค่านิยมทางสังคม เป็นตัวกำหนดและกำกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้นการกำหนดนโยบายหรือมาตรการทางสังคมต่างๆ เพื่อควบคุมความเสี่ยงสุขภาพ จึงจำเป็นต้องเข้าใจแง่มุมเหล่านี้ด้วย ไม่เช่นนั้นการรณรงค์อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง (unintended consequences) ทั้งการเหมารวม การตีตรา และสร้างการกีดกันทางสังคมให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงในบางชนชั้นในสังคม อีกทั้งบ่อยครั้งที่เสียงหรือเรื่องเล่าของประชากรกลุ่มเสี่ยงที่วิเคราะห์ทางสถิติบนฐานประชากร ถูกทำให้เป็นความรู้ชายขอบ หรือไม่ถูกรับรู้จากเจ้าหน้าที่สุขภาพและผู้กำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ และละเลยการทำความเข้าใจต่อประสบการณ์ความเสี่ยงสุขภาพที่หลากหลายมุมมอง ความเชื่อ และเรื่องเล่าของกลุ่มเสี่ยง ภายใต้บริบทที่เฉพาะเจาะจงในชีวิตประจำวัน
แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ โดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) จึงพัฒนาหลักสูตร “ระบาดวิทยาวัฒนธรรม” ขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจแบบแผนทางวัฒนธรรมใน 2 ลักษณะ คือ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” (Lay culture) ที่กำกับความคิด ความเชื่อ และการตีความประสบการณ์ทางสังคมต่อความเสี่ยงสุขภาพของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น กับ “วัฒนธรรมของผู้เชี่ยวชาญ” (Professional culture) หรือจารีตปฏิบัติในการประกอบสร้างความรู้ระบาดวิทยาของเจ้าหน้าที่สุขภาพ โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรแบบราชการที่มีอิทธิพลในการกำกับวิธีคิดวิถีปฏิบัติในการออกแบบและพัฒนาการทำงานส่งเสริมสุขภาพ
“หลักสูตรระบาดวิทยาวัฒนธรรม” มีวัตถุประสงค์หลักในการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพให้มีความรู้ความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานมิติสังคมวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ และใช้เครื่องมือระบาดวิทยาวัฒนธรรมในการวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ขยายความรู้และความเข้าใจต่อแบบแผนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คนภายใต้บริบทยุคปัจจุบัน ขยายมุมมองต่อความเสี่ยงสุขภาพที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและภาระโรคยุคปัจจุบันใน 7 ประเด็น ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน การพนัน โรคในกลุ่ม NCDs และภัยพิบัติ รวมถึงสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเครือข่ายที่เข้มแข็งของบุคลากรด้านสุขภาพที่สนใจมิติสังคมวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ พฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ และระบาดวิทยาวัฒนธรรม
เป้าหมายสำคัญของการอบรมหลักสูตรนี้ คือ บุคลากรด้านสุขภาพสามารถประยุกต์ความรู้ในประเด็นดังกล่าวในการพัฒนางานประจำ การปฏิบัติงานในพื้นที่ การกำหนดนโยบายและมาตรการทางสังคม และการรณรงค์เพื่อควบคุมป้องกันความเสี่ยงสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของประชากรกลุ่มเสี่ยง ด้วยความใส่ใจต่อความละเอียดอ่อนและความแตกต่างหลากหลายของสังคมวัฒนธรรม
ดูรายละเอียดหลักสูตรระบาดวิทยาวัฒนธรรม ได้ที่ http://shi.or.th/content/45056/1/
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คุณจิตชนก ไกรวาส สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) โทร. 0 2590 2375 หรือ 096 941 7730
เป้าหมายสำคัญของการอบรมหลักสูตรนี้ คือ บุคลากรด้านสุขภาพสามารถประยุกต์ความรู้ในประเด็นดังกล่าวในการพัฒนางานประจำ การปฏิบัติงานในพื้นที่ การกำหนดนโยบายและมาตรการทางสังคม และการรณรงค์เพื่อควบคุมป้องกันความเสี่ยงสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของประชากรกลุ่มเสี่ยง ด้วยความใส่ใจต่อความละเอียดอ่อนและความแตกต่างหลากหลายของสังคมวัฒนธรรม
- 290 views