กรมควบคุมโรค เผยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 10 เตือนประชาชนหากถูกสุนัข-แมว กัด ข่วน ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามนัดทุกครั้ง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่าผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดระยอง ได้เสียชีวิตลงแล้วในช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–13 มิ.ย. 2561 มีจำนวน 10 ราย จาก 10 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร และระยอง) ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน แล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงรายล่าสุดนี้ด้วย
จากข้อมูลของผู้เสียชีวิตหลายรายมักคิดว่าแผลเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนกระทั่งแสดงอาการ แต่ก็สายเกินแก้ไข เป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็น หรือ DDC poll เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เช่น เมื่อถูกสุนัข-แมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 51.3 และพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 75.4 ไม่รู้ว่าต้องพาลูกสุนัขหรือแมว อายุ 2-3 เดือน ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค หากประชาชนถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้ว่าแผลจะเพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และที่สำคัญหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
ขอให้ประชาชนป้องกันและลดความเสี่ยงอย่าให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล โดยยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ได้แก่ 1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 92 views