บทเรียนการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีแนวโน้มและการปรับตัวที่ดีขึ้น ทำให้ระบบบริการสุขภาพตอบโจทย์ท้องถิ่นได้ตรงจุด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ความพึงพอใจของประชาชนที่มาใช้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ถ่ายโอนยังอยู่ในระดับมาก
ประเทศไทยมีการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับตั้งแต่ปี 2551-2559 เกิดขึ้นรวม 51 แห่ง หรือในพื้นที่ อปท. 36 แห่งมีการถ่ายโอนสถานีอนามัย/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 51 แห่ง โดยจากการศึกษาบทเรียนกรณีศึกษาพื้นที่ถ่ายโอนใน รพ.สต. 28 แห่งเพื่อประเมินและติดตามผลกระทบของการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อปท. ในเชิงการบริหารจัดการ การตอบสนองต่อสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ในช่วงปี 2554-2555 พบว่า ผลที่เกิดจากการถ่ายโอนมีความแตกต่างกันเป็นไปตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ
พื้นที่ถ่ายโอนส่วนใหญ่ มีรูปแบบบริการไม่แตกต่างไปจากเดิม
ในด้านบทบาทการทำงาน พบว่า 2 ใน 3 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนการถ่ายโอน และ 1 ใน 4 สามารถทำงานได้ตามอุดมคติ คือทั้งการบริการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค อันเป็นหน้าที่พื้นฐาน การตอบโจทย์นโยบายของ อปท. และการคิดค้นพัฒนางานที่ตอบโจทย์ความต้องการสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น
ส่วนในด้านการบริหารจัดการ พบปัญหาการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบุคลากรใน อปท. ก่อนการถ่ายโอน ที่ทำให้เกิดปัญหาการปรับตัวในการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหากมองในเชิงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การเข้าถึงบริการ และความเป็นธรรม พบว่าผลกระทบแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ในพื่้นที่ที่มีการถ่ายโอนเป็นไปอย่างราบรื่น หมายถึง จนท.สาธารณสุขและผู้นำท้องถิ่น สามารถจับมือกันได้อย่างดี ก่อให้เกิดบริการสุขภาพที่หลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง และงานสร้างเสริมสุขภาพกับกลุ่มอื่นๆ มีแพทย์ให้บริการ
กล่าวได้ว่าพื้นที่ถ่ายโอนส่วนใหญ่ มีรูปแบบบริการไม่แตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่ความพึงพอใจของประชาชนที่มาใช้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ถ่ายโอนยังอยู่ในระดับมาก
บทสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย
บทเรียนของสถานีอนามัย/รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อปท. แสดงให้เห็นแนวโน้มและการปรับตัวที่ดีขึ้น ทำให้ระบบบริการสุขภาพตอบโจทย์ท้องถิ่นได้ตรงจุด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องส่งสัญญาณเชิงนโยบายที่ชัดเจนและการระดมสรรพกำลัง เพื่อช่วยให้หน่วยบริการที่ถ่ายโอนสามารถก้าวผ่านอุปสรรค สู่ความสำเร็จได้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติกระจายอำนาจ
เนื่องจากการกระจายอำนาจสาธารณสุขสู่ท้องถิ่นของประเทศไทยจัดว่ายังไม่คืบหน้าและมีอุปสรรคด้านความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย แม้จะมีการถ่ายโอนสถานีอนามัย/รพ.สต.แล้ว 51 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถดำเนินงานได้เช่นเดิมแต่พบปัญหาด้านระเบียบต่างๆ และการประสานงานกับหน่วยบริการอื่นๆ ในระยะแรก และยังพบว่า อปท. สามารถบริหารจัดการต่อจากกระทรวงสาธารณสุขได้ การสนับสนุนจากระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่เหมือนเดิมหรือดีขึ้น และคุณภาพการบริการประชาชนยังไม่พบว่าแตกต่างจากเดิม
แนวนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสขุ พบว่ามีรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่
1) การจัดบริการสุขภาพโดยสถานบริการของเทศบาลและ กทม.
2) โรงพยาบาลองค์การมหาชน (บ้านแพ้ว)
3) การจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
4) การสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่
5) มีอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต
6) มีกองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่
7) มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)
สุขภาวะของประชาชนเป็นอย่างไร ในท้องถิ่นที่รับภารกิจด้านสุขภาพมาดูแล
จากการศึกษาบทเรียนการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจ 18 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้หลากหลายมากขึ้น เช่น การให้บริการรักษาพยาบาลขั้นต้น ซึ่งมักเป็นบริการจากศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัยถ่ายโอน หรือการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองประเภทต่างๆ การสาธารณสุขเชิงป้องกัน การควบคุมโรค และการให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพแก่ประชาชน ตลอดจนการให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานอื่นในระบบสุขภาพที่มีในพื้นที่ โดยอบจ. เทศบาล และอบต. มีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการเอง
อย่างไรก็ตาม ระบบการให้บริการด้านสุขภาพที่ดำเนินการโดย อปท. ยังเกิดขึ้นในขอบเขตที่จำกัดเมื่อเทียบกับบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อเทียบกับปัญหาทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หน่วยบริการของ อปท. ที่มีขนาดเล็กหลายหน่วยกระจัดกระจาย มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงในการให้บริการกับประชาชน ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงเชิงประสิทธิภาพต่อไป
เก็บความจาก
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ (2560). สรุปบทเรียนการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข , เอกสารนำเสนอในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (WM) ครั้งที่ 36 ปี 2560 วันที่ 18 ตุลาคม 2560.
- 667 views