แม้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542 รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2549 จะมีผลบังคับใช้มาสิบกว่าปี แต่จนถึงปัจจุบันมีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถูกถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพียงไม่กี่สิบแห่งเท่านั้น
ในบรรดาหน่วยบริการเหล่านี้ มีอีกหลายแห่งที่เมื่อออกจากการกำกับดูแลของ สธ.แล้ว การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก สามารถพัฒนาโครงสร้างอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากรตลอดจนความหลากหลายในการให้บริการชนิดที่เรียกว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่นศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ สังกัดเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี ก็เป็นหนึ่งใน Success case ที่ถ่ายโอนมาอยู่กับ อปท. แล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นแหล่งเรียนรู้ให้หน่วยงานจากทั้งในและต่างประเทศมาดูงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับศูนย์การแพทย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีพื้นที่รับผิดชอบ 28 ชุมชน ประชากร 26,890 คน เดิมทีคือสถานีอนามัยบึงยี่โถ เริ่มดำเนินการในปี 2527 ก่อนจะเปลี่ยนสังกัดมาอยู่กับกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ ในปี 2550 แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 3 วัดเขียนเขต ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ ในปัจจุบัน
ขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า หากเทียบสภาพของหน่วยบริการแห่งนี้กับในอดีตตอนยังอยู่กับ สธ. กับสิ่งที่เทศบาลให้การสนับสนุนเพิ่มเติมน่าจะมีกว่า 90% ทั้งเรื่องการปรับปรุงอาคารเดิม สร้างอาคารใหม่ จ้างบุคลากรเพิ่มเติม ตลอดจนยาและเครื่องมือต่างๆ แต่เดิมเทศบาลอยากสนับสนุนสถานีอนามัย อยากสร้างตึกให้ อยากซื้อยูนิตทำฟันให้ก็ทำไม่ได้เพราะอยู่คนละกระทรวง เมื่อถ่ายโอนมาอยู่กับ อปท.แล้ว ท้องถิ่นก็สามารถนำเงินมาสนับสนุนหน่วยบริการได้โดยตรงเพื่อถือว่าเป็นหน่วยงานเดียวกันแล้ว
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ ยกตัวอย่างเช่น อาคารสถานที่ต่างๆ เมื่อถ่ายโอนมาแล้วเทศบาลได้เข้ามาช่วยปรับปรุง ทาสีตกแต่งอาคารเดิม สร้างอาคารใหม่อีก 2 หลัง มีการตกแต่งเหมือนสถานบริการเอกชน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ถ้าท้องถิ่นมีเงินก็ซื้อได้เรื่อยๆ เฉพาะแค่เครื่องมือที่ใช้ทำกายภาพบำบัด ตั้งแต่รับถ่ายโอนมาก็มียอดซื้อสะสมกว่า 60 ล้านบาทแล้ว ทำให้คลินิกกายภาพบำบัดของศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลใหญ่ ทางโรงพยาบาลธัญบุรี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงส่งตัวผู้ป่วยมาทำกายภาพที่นี่เสมอ
ขวัญใจ กล่าวอีกว่า ข้อดีอีกประการของการโอนย้ายมาอยู่กับ อปท. คือท้องถิ่นสามารถตั้งกรอบอัตรากำลังเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะ แต่เดิมตอนเป็นสถานีอนามัยมีบุคลากร 5 คน ทำแผลเย็บแผลก็หมออนามัย จ่ายยาก็หมออนามัย อะไรๆ ก็หมออนามัย แต่พอถ่ายโอนมาอยู่กับ อปท. ทางเทศบาลได้ตั้งกรอบอัตรากำลังเพิ่มจนขณะนี้มีบุคลากรกว่า 30 คน มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการสุขาภิบาล นักกายภพบำบัด ฯลฯ เมื่อมีบุคลากรเพิ่มก็สามารถขยายการให้บริการ โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 คลินิกคือ 1.คลินิกทันตกรรม 2.คลินิกผู้ป่วยนอก 3.คลินิกกายภาพ และ 4.คลินิกแพทย์แผนไทย
“เรารับถ่ายโอนมาปี 2550 ผ่านมา 11 ปี หน่วยบริการแห่งนี้มีพัฒนาการมากมาย แต่เดิมมีผู้ป่วยนอกแค่ 10 คน/วัน ตอนนี้เป็น 200 คน/วัน คนไข้โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลอำเภอแล้ว มาหาหมอที่นี่ได้เลย แล้วถ้าใช้สิทธิบัตรทอง ไม่ว่าจะอยู่ตำบลไหน ถ้าใช้สิทธิที่โรงพยาบาลธัญบุรีก็มาที่เราได้หมด คนไข้ก็เลยมาเยอะ ยูนิตทำฟันจากเดิม 1 เตียงก็มีเป็น 4 เตียง มีทันตแพทย์ที่รักษารากฟันก็ได้ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ และเนื่องจากเรามีแพทย์ประจำ พวกยาต่างๆ เราก็ซื้อได้หมด หมอสั่งซื้อได้ สั่งจ่ายได้ ซึ่งหากเป็นสถานีอนามัยหรือ รพ.สต. ยาบางอย่างหมออนามัยสั่งจ่ายไม่ได้” ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ขวัญใจ สรุปว่า การโอนย้ายมาอยู่กับ อปท. ช่วยให้หน่วยบริการมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ท้องถิ่นสนับสนุนหน่วยบริการได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ สามารถพัฒนาศักยภาพและความหลากหลายของบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการก็ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้รวดเร็ว แต่ละปีเทศบาลจะทำประชาคมปีละหลายครั้ง ประชาชนจะใช้โอกาสนี้สื่อสารความต้องการของตัวเอง เช่น อยากให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกในชุมชน ศูนย์การแพทย์ฯ ก็จะเข้าไปตรวจให้ถึงที่ ไม่ได้ตั้งรับอยู่แต่ในออฟฟิศ หรือถ้าบริการไม่ดี ชาวบ้านก็โทรหานายกเทศมนตรีได้เลย ไม่ต้องมีขั้นตอนการร้องเรียนหลายทอดเหมือนตอนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม แม้จะโอนมาสังกัด อปท.แล้ว แต่หน่วยบริการก็ไม่ได้ตัดขาดจาก สธ. ศูนย์การแพทย์ฯ ทุกวันนี้ก็ยังรับนโยบายจาก สธ. หากกระทรวงต้องการให้ทำเรื่องใดก็มีหนังสือแจ้งมาตลอด เช่น ตรวจคัดกรองคนไข้เบาหวาน ความดัน ปีละ 10,000 คน ตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละ 1,000 เคส ไม่ว่าจะเอาตัวชี้วัดอะไรทางหน่วยบริการก็ดำเนินการให้หมดเหมือนหน่วยบริการอื่นๆ ที่อยู่ในสังกัด สธ.
รังสรรค์ นันทกาวงศ์
ด้าน รังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. มาอยู่กับ อปท.มีข้อดีอย่างไรคงขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่นนั้นๆ หากเป็นท้องถิ่นในชนบท มีงบประมาณน้อย ตรงจุดนั้นอาจมีความจำเป็นน้อย
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวคิดว่ายังมีท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่มีความพร้อมและอยากรับโอน รพ.สต.มาดำเนินการ เพียงแต่ สธ. ไม่ยอมปล่อยออกมา ตอน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2549 ออกมาในตอนแรก มี รพ.สต.ที่ถูกปล่อยออกมาเพียง 22 แห่ง ผ่านไป 10 ก็มีเพิ่มเป็นไม่กี่สิบแห่งจากจำนวน รพ.สต.ทั้งหมดเกือบ 1 หมื่นแห่ง นอกจากนี้ประเมินผลออกมามาทีไรก็ตกทุกที ทั้งๆ ที่มีหลายแห่งที่ทำสำเร็จ ดังนั้นจึงอยากให้ สธ. ลองปล่อยให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมได้ลองทำดู
“อย่างของเรามีความพร้อม เรื่องบุคลากรก็ไม่มีปัญหา เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้างบุคลากรมารองรับ ต่อมาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือเราก็ทุ่มไปกับเครื่องมือแพทย์ไปหลายสิบล้านบาท เราสามารถปรับปรุงสถานีอนามัย ถ้าได้เดินเข้าไปดูข้างในจะเห็นเลยว่าเป็นเหมือนคลินิกเอกชนดีๆ แห่งหนึ่ง ถามว่าเราทำเพื่อความโก้เก๋ไหม ไม่ใช่ เราทำเพื่อให้คนมาใช้บริการรู้สึกเชื่อมั่นว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่อนามัยในอดีต แต่เป็นคลินิกดีๆ แห่งหนึ่ง พอประชาชนมีความเชื่อมั่นแล้ว หมอพูดอะไรก็เชื่อฟัง มีกำลังใจกินยาตามที่หมอสั่ง สุขภาพคนก็ดีขึ้น อีกทางหนึ่งเมื่อท้องถิ่นพัฒนาหน่วยบริการให้มีขีดความสามารถเพิ่ม ก็จะมีคนมารักษามากขึ้น ช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง” นายรังสรรค์ กล่าว
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญอีกประการเมื่อถ่ายโอน รพ.สต.มาอยู่กับท้องถิ่นคือความมีอิสระในการบริหารจัดการ มีความยืดหยุ่นสามารถคิดแล้วทำกับชุมชนได้เลยโดยไม่ต้องรอหน่วยเหนือสั่งซึ่งอาจไม่ทันการ
นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่นเอง เนื่องจากงานด้านสังคมโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขเป็นงานที่มีหลายมิติ ทั้งรักษา ป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ พอมีภารกิจเยอะ นายกฯ หลายคนอาจไม่อยากทำหรือทำแล้วท้อ หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่เปลืองเงิน แต่จากประสบการณ์ทำงานด้านนี้แล้ว พบว่างานด้านสาธารณสุขอาจไม่ใช่เรื่องที่เปลืองงบประมาณอย่างที่หลายพื้นที่คิด ยกตัวอย่างเช่น การจ่ายยา ต้นทุนยาเม็ดละ 75 สตางค์ ขายในราคา 1 บาท ได้กำไร 25% ก็เอาเงินนี้ไปจ้างเภสัชกร หรือค่ารักษาที่ศูนย์แพทย์เรียกเก็บคนละ 100-200 บาท แต่ละวันได้ประมาณ 4,000-5,000 บาท เงินส่วนนี้ก็เอาไปจ่ายเป็นค่าหมอ ทำไปทำมาทุกวันนี้เทศบาลจ่ายแค่ค่า facility ค่าน้ำ ค่าไฟเท่านั้นเอง บางเดือนมีเงินเหลือด้วยซ้ำ
“เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริหารท้องถิ่นเปลี่ยน mind set ว่าเรื่องสาธารณสุขไม่ใช่ภาระแต่เป็นบริการที่มีค่าตอบแทน เพียงแต่ต้องเป็นค่าตอบแทนที่ชาวบ้านจ่ายได้ แล้วถ้ารักษาดี ถามว่าชาวบ้านจะเลือกให้เป็นนายกฯ ไหม” นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวทิ้งท้าย
- 5670 views