ผอ.กองสาธารณสุข เทศบาลบึงยี่โถ เผย ค่าตอบแทนบุคลากรศูนย์การแพทย์ฯ หลังถ่ายโอนไม่ต่างจาก สธ. แถมมีโบนัสเพิ่ม 1-2 เดือน เทศบาลเปิดกรอบบรรจุพร้อมขยับตำแหน่งขยับตามความเหมาะสม ระบุรวมกองสาธารณสุขฯ มีพยาบาลวิชาชีพระดับซี 8 จำนวน 3 คน เตรียมขยับเพิ่มอีก 1 คน และอยู่ระหว่างหารือเปิดระดับซี 9 พิจารณาแพทย์/ทันตแพทย์เพิ่ม บรรจุนักกายภาพบำบัดเป็น ขรก.เพื่อดึงทำงานที่ศูนย์ พร้อมหนุน รพ.สต.ถ่ายโอน หากท้องถิ่นให้ความสำคัญหนุนงานดูแลสุขภาพประชาชน
นางขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี กล่าวถึงนโยบายการบริหาร “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพบึงยี่โถ” ว่า การทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลนับเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการโอนย้ายสถานีอนามัยมายังเทศบาลภายใต้สังกัดกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาและขยายบริการสุขภาพดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากบริการรักษาผู้ป่วยนอกไปจนถึงขยายบริการสุขภาพด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นบริการทันตกรรมดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุ การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อดูแลผู้พิการที่มีประมาณ 300 คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และการจัดบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็ม เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย ลดผลกระทบจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน
นางขวัญใจ กล่าวว่า จากการพัฒนาและขยายบริการศูนย์การแพทย์ฯ ส่งผลให้มีประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจึงต้องมีการจัดบุคลากรให้เพียงพอ ซึ่งที่ศูนย์การแพทย์ฯ มีแพทย์ประจำ 1 คน ทันตแพทย์ 2 คน พยาบาลวิชาชีพ 3 คน เภสัชกร 1 คน ทันตาภิบาล 2 คน และยังมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพและเจ้าหน้าที่ภายในกองสาธารณสุขฯ ที่คอยสนับสนุนและช่วยกันทำงาน โดยบุคลากรทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งโอนย้ายมาพร้อมกับการถ่ายโอนสถานีอนามัยจากกระทรวงสาธารณสุข และอีกส่วนหนึ่งเป็นการเปิดกรอบอัตราบุคลากรและจ้างเพิ่มเติมโดยเทศบาล ส่งผลให้ขณะนี้ทั้งกองสาธารณสุขฯ รวมทั้งศูนย์การแพทย์ฯ มีบุคลากรทั้งหมด 30 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 15 คนและลูกจ้างประจำ 15 คน
“หลังจากที่สถานีอนามัยถ่ายโอนมายังเทศบาลเมืองบึงยี่โถแล้ว ส่งผลให้การทำงานดูแลสุขภาพประชาชนดีขึ้นมาก มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น จากแต่เดิมมีกฎหมายคอยกำกับอยู่ ทำให้เทศบาลไม่สามารถเข้าไปสนับสนุนงานสถานีอนามัยได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างอาคารและการจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม รวมถึงการจ้างบุคลากรที่หลังการโอนถ่ายสามารถเปิดกรอบอัตราเพิ่มเติมได้เองตามความจำเป็นของภาระงาน” ผอ.กองสาธารณสุขฯ เทศบาลบึงยี่โถ กล่าวและว่า ประกอบกับนายกเทศมนตรีบึงยี่โถให้ความสำคัญต่องานด้านสุขภาพมาก ส่งผลให้งานบริการสุขภาพในพื้นที่มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการบริหารบุคลากร โดยเฉพาะในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรหลังการถ่ายโอนสถานีอนามัยมายังท้องถิ่นเป็นอย่างไร นางขวัญใจ กล่าวว่า ทั้งบุคลากรที่โอนย้ายมาจากสถานีอนามัยเดิม และโอนย้ายมาจากหน่วยงานสังกัดอื่น รวมถึงบุคลากรที่ได้เปิดกรอบอัตราและจ้างเพิ่มเติม ทุกคนได้เงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าวิชาชีพ และล่วงเวลาเช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีอะไรด้อยกว่า สธ. แม้ว่าจะเป็นข้าราชการท้องถิ่น มีโบนัสให้เพิ่มเติม 1-2 เดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
“ค่าตอบแทนของบุคลากรที่นี่ได้เหมือนกับ สธ.ทุกอย่าง อย่างหมอฟันไม่ทำคลินิกก็จะได้เพิ่มเติมอีกเดือนละหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน ซ้ำยังมีโบนัสเพิ่มเติม การทำงานกับท้องถิ่นที่นี่ไม่มีอะไรด้อยกว่า สธ.เลย”
ต่อข้อซักถามเรื่องความก้าวหน้าของการทำงานนั้น นางขวัญใจ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าท้องถิ่นอื่นเป็นอย่างไร แต่ที่บึงยี่โถนายกเทศมนตรีให้เต็มที่ โดยตำแหน่งบุคลากรที่เหมาะสมและควรได้รับท่านไม่เคยบล็อกไว้ หากให้ได้จะให้เลย โดยที่กองสาธารณสุขฯ ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพระดับซี 8 จำนวน 3 คนแล้ว โดยแต่ละคนอายุยังไม่มาก และอยู่ระหว่างการทำซี 8 เพิ่มอีกหนึ่งคน อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการพูดคุยกันถึงการทำซี 9 ซึ่งท่านนายกเทศมนตรีบึงยี่โถระบุว่า ทั้งแพทย์และทันตแพทย์หากถึงเวลาอยากให้ทำซี 9 ได้ เพราะขณะนี้ในส่วนตำแหน่งปลัดเทศบาลได้เปิดทำซี 9 ได้แล้ว ที่นี่ดูแลบุคลากรดี ทั้งนี้เรื่องของค่าตอบแทนและความก้าวหน้าวิชาชีพบุคลากรคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและผู้บริหารของแต่ละท้องถิ่น แต่ที่นี่ดูแลได้ดีมาก
“หากเป็นวิชาชีพขาดแคลน นายกเทศมนตรีบึงยี่โถมีนโยบายเปิดกรอบอัตราให้ทันที อย่างนักกายภาพบำบัด แต่เดิมเป็นเพียงแค่ลูกจ้างประจำเท่านั้น แต่เมื่อเป็นวิชาชีพขาดแคลนให้กรอบบรรจุเป็นข้าราชการเลย ทั้งนี้เพื่อดึงให้ทำงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ คอยดูแลประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง และในปีนี้จะเปิดกรอบบรรจุนักกายภาพบำบัดเพิ่มเติมอีก 1 ตำแหน่ง” ผอ.กองสาธารณสุขฯ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาคนทำงานที่นี่มีความสุขกันดี ยังไม่มีขอย้ายออก มีแต่จะขอย้ายมาทำงานด้วยกัน
นางขวัญใจ กล่าวว่า สำหรับตนเองนั้น เดิมเป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่โรงพยาบาลนพรัตน์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยที่ชอบทำงานเชิงรุกส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่เรียน เบื่องานรักษาที่เป็นการตั้งรับ จึงได้โอนย้ายมาทำงานที่เทศบาลบึงยี่โถจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยอมรับว่าช่วงก่อนโอนย้ายมามีความกังวลทั้งในเรื่องค่าตอบแทนและความก้าวหน้าเช่นกัน แต่หลังจากได้พูดคุยกับท่านนายกเทศมนตรีฯ ถึงเนื้องานตรงกับสิ่งที่อยากทำ ประกอบกับท่านได้ให้ความมั่นใจในนโยบายสุขภาพและความก้าวหน้าจึงได้ตัดสินใจโอนย้ายมา
“ตอนย้ายมากลัวนิดหน่อย แต่ก็คิดว่าหากท้องถิ่นยุบค่อยย้ายไปที่อื่นก็ได้ ซึ่งตัวเองไม่ติดว่าต้องอยู่ที่เดิม ชอบความแปลกใหม่ ท้าทาย และการทำงานเชิงรุก งานสาธารณสุขเคลื่อนที่ในชุมชน ถึงงานจะหนักกว่าเดิม แต่ได้ใช้ทุกวิชาที่เรียนมา และต่อมาได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่บึงยี่โถเลย เพื่อความสะดวกในการทำงาน”
นางขวัญใจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ศูนย์การแพทย์ฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงบริการให้เหมือนกับคลินิกเอกชน และยังมีแผนพัฒนาต่อไป หากถามความเห็นเรื่องการถ่ายโอนสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนตัวอยากให้ถ่ายโอนมากกว่านี้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาการบริการดูแลประชาชน โดยงบประมาณนอกจากการบริการที่ได้รับงบจากเหมาจ่ายรายหัวส่วนหนึ่งแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองบึงยี่โถที่มีส่วนในการพัฒนาศูนย์การแพทย์ฯ อย่างมาก
อย่างไรก็ตามงานสุขภาพเป็นงานสำคัญ แม้ว่าจะถ่ายโอนแล้วแต่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น รวมถึงโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งที่ศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถ ยังทำงานร่วมกันต่อเนื่อง และที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามตัวชี้วัดของ สสจ.ปทุมธานีมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้วัคซีนเด็ก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ซึ่งบางอย่างเราทำได้เกินเป้าตัวชี้วัดที่ตั้งไว้
- 781 views