สสส.ชี้เด็กไทย “ออกมาเล่น” น้อยลง “ติวเข้ม-ติดจอ” หนักขึ้น เหตุผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ปิดโอกาส “เล่นอิสระ” หนุนนโยบายส่งเสริม “สิทธิการเล่น” เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์-ปลอดภัยให้เล่นสนุก พร้อมโชว์พื้นที่ปฏิบัติการ “วันเล่น” พื้นที่เล่นสุดสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาทักษะร่างกาย จิตใจ สมอง สังคม
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) จัดเวทีสัมมนาเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนและส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็กในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดเรื่องการเล่นอิสระ ระดมแนวทางการส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก และการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน โดยมีนางเคธี หว่อง (Ms. Kathy Wong) รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ (IPA Vice President) และผู้อำนวยการบริหารPlay right Children's Play Association เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำเสนอแนวคิดและการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิการเล่นของเด็กในระดับนานาชาติ
นางเคธี กล่าวว่า สถานการณ์การเล่นของเด็กในระดับนานาชาติ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากผลการศึกษาปัญหาการเล่นของเด็กใน 8 ประเทศ พบปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย พ่อแม่กลัวอันตราย หน่วยงานราชการไม่มีนโยบายสนับสนุนการเล่นหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีของเล่น แรงกดดันจากพ่อแม่ที่เด็กต้องเรียนเก่ง ไม่มีกำหนดเวลาเล่นเมื่อไปโรงเรียน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กมากจนเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเล่นอิสระของเด็ก แม้ว่าการเล่นจะเป็นหนึ่งในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 ระบุว่า “เด็กมีสิทธิที่จะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นสันทนาการที่เหมาะสมตามวัย การมีส่วนร่วมอย่างมีเสรีภาพเหมาะสม” กลับเป็นสิทธิที่ถูกลืม คิดว่าเด็กเล่นอยู่แล้วเลยไม่ได้สนใจ มองข้ามเพิกเฉยทั้งที่จริงแล้วสำคัญมาก ดังนั้น IPA จึงมีการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของสิทธิเด็ก โดยผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญคือ 1.ส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก โดยนิยามการเล่นในมุมมองของเด็ก คือเด็กเป็นผู้ริเริ่ม เกิดจากแรงจูงใจภายในของเด็กเอง 2.สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมการเล่นของเด็ก ให้เด็กสามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกโอกาส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู แพทย์ ฯลฯ 3. มีสนามเด็กเล่นที่ไม่กีดกั้นการเข้าถึงของเด็กทุกคน โดยสร้างสนามเด็กเล่นที่สนุกสนาน ปลอดภัย ส่งเสริมจินตนาการ ไม่กลัวความเสี่ยงแต่สามารถจัดการความเสี่ยงได้ 4. สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคน เช่นที่จีน มีทางเท้าที่เด็กสามารถเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน หรือไปสนามเด็กเล่นอย่างปลอดภัย
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเยาวชนไทยมีปัญหาหลายด้าน ทั้งโภชนาการเกิน การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักตามข้อเสนอระดับสากลไม่ถึงวันละ 60 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย พบว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 6-17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร พบว่า ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกาย ของเด็กไทยอยู่ระดับปานกลาง หรืออยู่ระดับเกรด C แต่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง หรืออยู่ระดับเกรด D- ทั้งนี้ ผลที่ได้จากโครงการสำรวจ Report Card จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ขับเคลื่อนการส่งเสริมการเข้าถึง/สิทธิการเล่นในประเทศไทย
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภาครัฐจะก็มีนโยบายสนับสนุนด้านยุทธศาสตร์และการลงทุนภาครัฐ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น การสร้างสนามเด็กเล่น สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชนให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้เล่นกีฬา/ออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมสันทนาการตามวาระวันสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นการขยายผลต่อยอด สสส.จึงออกแคมเปญ “ออกมาเล่น” โดยสนับสนุนให้เด็กออกมาเล่นอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน และร่วมกับหลายหน่วยงานภาคทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นภาคียุทธศาสตร์กับ สสส. ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนไทยให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางสังคมและสติปัญญา พร้อมที่จะเป็นผู้รับภาระในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ
ด้าน นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วิถีชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขันสูง เด็กถูกคาดหวังและบีบคั้นให้แข่งขันด้านการศึกษา ต้องติวเข้มเพื่อเข้าเรียน เรียนพิเศษเพิ่มเติมจนไม่มีเวลาเล่น หรือการใช้เวลากับสื่อ ติดหน้าจอ ไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ทำให้ “การเล่นอิสระ”(Free play) น้อยลง ประกอบกับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคม ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการเล่นอิสระ ปิดกั้นโอกาสในการเล่นอิสระของเด็ก สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็กเยาวชนในหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย ภาวะโรคอ้วน ความเครียด ปัญหาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง การเข้าสังคม ฯลฯ
“การเล่นช่วยวางรากฐานการเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตในเด็ก โดยเฉพาะการเล่นอิสระ ที่จะเล่นแบบไหนอย่างไรก็ได้ตามแต่จิตนาการของเด็ก เช่น บทบาทสมมุติ เล่นผจญภัย ซึ่งจะทำให้เด็กมีร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง สู่การมีเป้าหมายในชีวิต และเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและปูพื้นฐานสู่ความเป็นพลเมือง หรือในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสการเล่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ ลดความเครียด และความกดดัน เมื่อพบปัญหาชีวิตก็จะเลือกทางออกที่ดีให้แก่ตนเองได้” นางสาวเข็มพรกล่าว
นางสาวเข็มพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 โดยมีวาระการส่งเสริมพื้นที่เล่นสำหรับเด็กที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่และทุกมิติของสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นในการส่งเสริมการเล่นของเด็ก ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม โดยมีการระดมแนวทางการส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก เช่น การเพิ่มพื้นที่เล่นของเด็กในบ้าน ชุมชน สถานศึกษาและพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาและส่งเสริม ผู้อำนวยการการเล่น “Play Worker” ในประเทศไทย และ การสร้างพลังเครือข่ายสิทธิการเล่นของเด็ก นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม “วันเล่น” (PLAY DAY) ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดกิจกรรมที่พิเศษ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีการเล่นอย่างสร้างสรรค์
- 48 views