กระทรวงคมนาคม-สสส.-สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมจัดประชุมการเดินและการใช้จักรยานครั้งที่ 6 จุดประกายใช้จักรยานเชื่อมการเดินทางสาธารณะ ได้ทั้งสุขภาพคนและสุขภาพเมือง ผลการศึกษาชี้หากอำนวยความสะดวก “จุดจอดจักรยาน” สนใจใช้เดินทางมากขึ้นถึงร้อยละ 70 แถมใช้จักรยานแทนรถยนต์สัปดาห์ละ 1 วัน ช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกระทรวงคมนาคม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันการเดินและการจักรยานไทย จัดประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยเดิน จักรยาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพคนและเมือง : Mode Shift , Bike and Walk to Public Transport Connection” โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาถกฐาพิเศษ “เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยเดิน จักรยาน เพื่อสุขภาพคนและเมือง”
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง นอกจากได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาในมิติอื่นๆ ด้วย อาทิ มิติด้านสังคม การใช้จักรยานในการเดินทาง เป็นเครื่องมือในการสร้างสัมพันธ์ในชุมชน เกิดความรู้สึกกันเอง ใกล้ชิด และช่วยสลายความเป็นชนชั้น กรณีศึกษาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่กลุ่มคนทุกชนชั้นใช้จักรยานเป็นยานพาหนะไปทำงานและเป็นกิจกรรมพักผ่อน ในด้านเศรษฐกิจพบว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการเดินทางและยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 19 ดังนั้นหากใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน คนไทยจะประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้จักรยานระยะสั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 254 ล้านตัน (เฉลี่ย 3.75 ตันต่อคนต่อปี) โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 1.6 ซึ่งมาจาก ภาคการขนส่งร้อยละ 28.2
รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาได้เก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมการเดินทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าด้วยจักรยาน ที่สถานีแยกติวานนท์ และสถานีวงศ์สว่าง ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงพบว่า ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมากถึง ร้อยละ 40 ใช้บริการรถไฟฟ้า เพียงร้อยละ 13 มีคนเดินและใช้จักรยานร้อยละ 10 และ 8 ตามลำดับ เพื่อไปทำงาน ไปธุระต่างๆ ที่เหลือเดินทางด้วยรูปแบบอื่นๆเช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มอเตอร์ไซค์ส่วนตัว รถประจำทาง รถสองแถว ปัจจุบันนี้มีการใช้จักรยานเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าเพียง ร้อยละ 30 แต่หากมีจุดจอดที่สถานี และละแวกบ้าน สนใจจะใช้มากขึ้นถึงร้อยละ 70
การประชุมเมืองจักรยานโลก Velo-City 2017 ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเสนอตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมให้พลเมืองเดิน และหรือใช้จักรยาน ในระยะทางประมาณ 1 – 5 กิโลเมตร เพื่อไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้า ตามโครงการ Bike Train Bike ที่สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (European Union) โดยทดลองศึกษาใน 4 เมืองใหญ่ คือ (1) เบลเยียม (Belgium) (2) เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ (Liverpool United Kingdom) (3) เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน (Barcelona Spain) และ (4) เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี (Milan Italy) ผลศึกษาคาดการณ์ว่า การส่งเสริมให้พลเมืองเดินและหรือใช้จักรยานไปต่อรถไฟฟ้า ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้า สามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของพลเมืองได้ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประหยัดพลังงาน สร้างรายได้จากให้ธุรกิจการให้บริการที่จอดจักรยาน และส่งเสริมให้พลเมืองมีสุขภาพกายที่ดีด้วย
ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า “ฝุ่น PM 2.5 นี้มีขนาดเล็กมาก สามารถทะลุทะลวงเข้าไปได้ถึงขั้วปอดข้างใน จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้มาก และจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้มีต้นกำเนิดมาจากหลายต้นตอ เขม่าควันจากรถยนต์ทุกชนิด เผาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะหรือไม่ ควันออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งจากการทำอาหาร ฯลฯ ทั้งในเขตเมืองและชานเมือง และ ณ ปัจจุบันเรายังไม่รู้เลยว่าต้นตอหลักนั้นคืออะไร หากเราจะรอผลงานวิจัยไปอีก 5 ปีเพื่อจะรู้ได้ชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุหลักและมุ่งเน้นความพยายามรวมทั้งงบประมาณไปแก้ปัญหานั้น ก็คงจะสายเกินไป และประชาชนคงไม่ยอม สิ่งที่ทำได้ตอนนี้อย่างง่ายๆ และหลายคนสามารถมีส่วนร่วมทำได้ คือ เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง มาเดินและใช้จักรยานไปเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ”
ทั้งนี้ ในการประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 6 มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก Mr.Bruno Van Zeebroeck , Senior researcher at Transport & Mobility Leuven ในหัวข้อ จากจักรยานสู่รถไฟไปต่อด้วยจักรยาน: เร็วกว่า เท่กว่า ง่ายกว่า ทำได้อย่างไร? Bike-Train-Bike –faster, cooler , easier Seamless energy efficient from door to door มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ การส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและกายภาพของเมือง-ชุมชน (Infrastructure and Physical) ที่เอื้อต่อเดิน จักยานเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ นำเสนอ 6 ตัวอย่างพื้นที่ศึกษา ส่งเสริม เดิน จักรยาน ในชีวิตประจำวัน การพัฒนา ออกแบบ วางแผนเส้นทางระบบขนส่ง โครงข่าย (Network) เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ และผลการศึกษาการจัดการการท่องเที่ยววิถีชุมชนด้วยจักรยาน (Tourism) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน
- 31 views