กรมสุขภาพจิต ยุค 4.0 นำหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติมาใช้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พัฒนามาตรฐานบริการผู้ป่วยจิตเวชสู่ระดับสากล พบได้ผลดีมาก จัดยาครบสูตรไม่ผิดพลาด ไม่มีปัญหาปนเปื้อน รวดเร็ว ผู้ป่วยนอกได้รับยาภายใน 9 นาที ผู้ป่วยในไม่ถึง 1 นาที จ่ายยาผ่านระบบวันละเกือบ 2,000 รายการ เตรียมต่อยอดนำระบบโดรนจัดส่งยาไปหอผู้ป่วยในแทนใช้คนเดิน พร้อมทั้งนำระบบคิวอัตโนมัติมาใช้ที่แผนกผู้ป่วยนอกแทนการเรียกชื่อคาดทดลองใช้ในปลายปีนี้
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เขตทวีวัฒนา กทม. หรือชื่อเดิม รพ.นิติจิตเวช เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2561ว่า สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพื้นที่ กทม.โซนตะวันตก 7 เขต คือ ทวีวัฒนา หนองแขม ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางแค บางบอน บางพลัด ขณะนี้ได้พัฒนาระบบบริการสนองตามนโยบายคือบริการอย่างเป็นมิตร รู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน ให้เกียรติและคุณค่าแก่ผู้ป่วย ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งกายจิตใจ วิญญาณ และสังคมเสมือนเป็นสมาชิกครอบครัว
ประการสำคัญยังได้นำเทคโนโลยี มาพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชในยุค 4.0 ให้มีมาตรฐานในระดับสากล คือ ใช้ระบบหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติหรือสมาร์ท ฟาร์มาซี (Smart Pharmacy) ใช้เต็มพื้นที่ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นับเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของกรมสุขภาพจิต เพิ่มความคล่องตัวระบบบริการ จ่ายยาครบสูตรและไม่ผิดพลาด โดยเฉลี่ยต่อวันมีผู้ป่วยจิตเวชตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 280 คน แต่ละคนใช้ยาอย่างต่ำ 4 ชนิด เป็นเวลา 1-2 เดือน เมื่อนำระบบหุ่นยนต์จัดยาแทนคน สามารถจ่ายยาเร็วขึ้น ผู้ป่วยนอกจะได้รับยาภายใน 9 นาที จากเดิมต้องรอราว 30 นาที ส่วนผู้ป่วยในใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที แก้ปัญหาผู้ป่วยแออัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะขยายผลใช้ที่ รพ.จิตเวชอื่นๆ เช่น ที่ รพ.ศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.สวนสราญรมย์ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็น รพ.ใหญ่ขนาด 300 เตียงขึ้นไป
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งระบบหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติทั้งหมด 4 ตัวเป็นชนิดที่มีแขนกลรอรับยาเข้าซองแบบเบ็ดเสร็จและพิมพ์ฉลากยา ชื่อผู้ป่วย เวลากินยาเบ็ดเสร็จ ป้องกันปัญหายาปนเปื้อนได้เป็นอย่างดี ในการติดตั้งจะเชื่อมตรงจากระบบใบสั่งยาของแพทย์ทางคอมพิวเตอร์ที่ห้องตรวจโรคทุกห้อง เมื่อผู้ป่วยตรวจเสร็จสามารถรอรับยาได้เลย ขณะนี้เครื่องสามารถจ่ายยาได้ครอบคลุมรายการยาของสถาบันซึ่งมีกว่า 200 รายการได้กว่าร้อยละ 90 ซึ่งร้อยละ 95 เป็นยาเม็ด แคปซูล
เริ่มบริการอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ได้ผลดี ไม่พบปัญหาจ่ายยาผิดพลาด โดยจ่ายยาตามใบสั่งยาให้ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวม 3,971 คน จำนวน 16,982 รายการ รวมยา 632,680 เม็ด สามารถบริหารจัดการสต็อคยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหายาหมดอายุหรือยาสูญหาย เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ห้องยา สามารถให้บริการแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วยและญาติดีขึ้น
นอกจากนี้ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ยังมีแผนพัฒนาต่อยอดอีก 2 เรื่อง คือ พัฒนาระบบการส่งยาทางอากาศจากห้องยาไปยังหอผู้ป่วยโดยใช้โดรน (Drone) ตลอด 24 ชั่วโมงแทนการใช้คนเดิน เนื่องจากหอผู้ป่วยแต่ละหออยู่ห่างกัน และการนำระบบคิวอัตโนมัติมาใช้ที่แผนกผู้ป่วยนอกแทนการเรียกชื่อ ผู้ใช้บริการสามารถใช้เวลาช่วงรอคอยแพทย์ตรวจ ไปทำอย่างอื่นได้ เมื่อถึงคิวจะมีระบบเรียกเตือน คาดจะทดลองใช้ในปลายปีนี้
ขณะนี้ สถาบันฯได้ปรับสถานที่ภายในให้เอื้อต่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ถีบจักรยานย้ำในสระน้ำตื้นๆ เพื่อให้โรงพยาบาลจิตเวชเป็นสถานที่สำหรับการผ่อนคลาย ไม่เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจเท่านั้น ผู้รับบริการที่ปกติก็จะช่วยให้มีความสุขใจ ได้รับทั้งอาหารตาและอาหารใจ
- 166 views