รพ.ศรีธัญญา ก้าวสู่สมาร์ท ฮอสปิตอล ยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของกรมสุขภาพจิต ยกเลิกการใช้บัตรประจำตัวผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้ใช้แค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียว และใช้ระบบคิวอัตโนมัติที่แผนกผู้ป่วยนอก ผู้ใช้บริการใช้เวลาระหว่างรอคิวทำอย่างอื่นได้ พร้อมเปิดแล็ป 24 ชั่วโมง หลังพบว่าสถานการณ์ผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มมีปัญหาทางกายร่วมเพิ่มขึ้น ขณะนี้พบร้อยละ 40 เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง บางคนมีถึง 5 โรค
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.)ศรีธัญญา จ.นนทบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการประชาชนประจำปีงบประมาณ 2561
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า หลังจากที่ รพ.ศรีธัญญาได้ปรับโฉมบริการประชาชนที่แผนกผู้ป่วยนอกหรือโอพีดี มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ให้เกียรติ ให้บริการดูแลเหมือนเป็นบุคคลในครอบครัวในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา จากการสอบถามประชาชนพบว่ามีความประทับใจในบริการมากขึ้น และขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกทั้งโรงพยาบาล เป็นสมาร์ท ฮอสปิตอล (Smart Hospital) ยุค 4.0 เต็มรูปแบบแห่งแรกของกรมสุขภาพจิต โดยเชื่อมโยงข้อมูลจุดบริการทุกแผนกทางระบบออนไลน์ เช่น ห้องตรวจของแพทย์กับห้องยา ห้องแล็บ เอ็กซเรย์ และใช้หุ่นยนต์ช่วยจัดยาให้ผู้ป่วย ลดความผิดพลาดได้ดี ช่วยให้บุคลากรให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็ว คล่องตัว โดยผู้ป่วยทุกสิทธิ์หลักประกันสุขภาพใช้แค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ใช้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องพกบัตรผู้ป่วยของโรงพยาบาลเหมือนในอดีต เป็นการลดการสร้างบาดแผลทางใจให้ผู้ป่วยได้วิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันได้ใช้ระบบคิวอัตโนมัติ ผู้ป่วยสามารถใช้เวลาช่วงที่รอคิวตรวจ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ ลดความแออัดผู้ป่วยได้เป็นอันมาก โดยผู้ป่วยใหม่จะได้พบแพทย์ใน 20 นาที ส่วนผู้ป่วยเก่าและวิกฤติฉุกเฉินได้พบแพทย์ในเวลา 15 นาที
นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 ที่มีอาการป่วยทางจิตในขั้นรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนหลังจากให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งกาย จิต สังคม และวิญญาณ อาการดีและปลอดภัยแล้ว เพื่อส่งกลับไปอยู่กับครอบครัวและชุมชน โดยเชื่อมโยงระบบออนไลน์กับสถานพยาบาลปลายทางในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี และนครนายกอย่างไร้รอยต่อเช่นเดียวกันผู้ป่วยโรคทางกาย ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้การส่งเอกสารทางไปรษณีย์หรือให้ญาติถือไป เชื่อมั่นระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง สามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข
ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการ รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยจิตเวชมีการเจ็บป่วยที่หลากหลาย ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ที่น่าสังเกตุพบว่าแนวโน้มป่วยทางจิตอย่างเดียวลดลง จะพบว่ามีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 40 มีปัญหาแทรกซ้อนทางกายร่วมด้วย บางคนมีถึง 5 โรคต้องรักษาไปพร้อมๆ กัน เช่นในผู้ป่วยจิตเภทซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยทางจิตกลุ่มใหญ่ที่สุด จะมีปัญหาผลกระทบจากการดื่มเหล้า ใช้ยาบ้า น้ำตาลในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง และปัญหาระดับเกลือแร่ในร่างกายหรืออิเล็คโทรไลท์ (Electrolyte) ไม่สมดุล ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดการใส่ใจดูแลสุขภาพเพราะมีอาการทางจิต ในระยะยาวอาจมีผลกระทบการทำงานของหัวใจ ไต ผิดปกติ ในปีที่ผ่านมาพบ 932 คน ในช่วง 10 เดือนปีนี้พบจำนวน 602 คน
รพ.ศรีธัญญาได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ได้รับความปลอดภัย โดยเปิดห้องแล็บ (Laboratory) หรือห้องตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภาเทคนิคการแพทย์แล้ว สามารถตรวจแล็บที่เร่งด่วนเช่น การตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาว เกลือแร่ในเลือด ตรวจสารเอ็มไซม์ (Enzyme) ของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ตรวจการทำงานของไต สารยาบ้าในเลือด และรายงานผลเข้าที่ห้องตรวจแผนกผู้ป่วยนอกหรือที่ห้องจิตเวชฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วภายใน 15-20 นาที
รวมทั้งมีเครื่องเอ็กซเรย์ระบบดิจิตอลเพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้อย่างแม่นยำ ทันท่วงทีและปลอดภัย ในรายที่มีอาการทางกายอยู่ในขั้นรุนแรง จะมีระบบการส่งต่อให้โรงพยาบาลใกล้เคียงด้วย ขณะเดียวกันยังได้ปรับระบบการจัดอาหารให้ผู้ป่วย ซึ่งต่อวันมีผู้ป่วยพักรักษาเฉลี่ย 630 คน จะเน้นจัดให้เหมาะสมกับรายบุคคล เฉพาะโรคหรือตามศาสนา เพื่อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย เช่นจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาหารย่อยง่าย เป็นต้น และได้จัดอบรมพัฒนาความรู้บุคลากรทุกวิชาชีพ ให้เป็นระดับมืออาชีพในการดูแลผู้ป่วยทางจิตที่อาการยุ่งยากซับซ้อน
- 414 views