รมว.สธ.เผยไทยตั้งเป้าเป็นประเทศชั้นนำ 1 ใน 3 ของเอเชียด้านการป้องกันควบคุมโรคภายในปี 2579 โดยไทยมีระบบการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายและภัยสุขภาพที่ครบวงจร ตรวจจับรวดเร็ว รายงานแบบเรียลไทม์ ระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันการแพร่กระจายโรค ขณะที่งานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อนั้น ในปี 2017 องค์การอนามัยโลกประเมินไทยมีผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเป็นอันดับ 3 ของโลก ร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทุบรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของกรมควบคุมโรค พร้อมเยี่ยมชมหน่วยโรคติดต่ออันตราย (Biocontainment Unit)
นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า งานระบาดวิทยาและการป้องกันโรคถือเป็นหัวใจของงานสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล ตั้งเป้าไทยจะเป็นประเทศชั้นนำ 1 ใน 3 ของเอเชียด้านการป้องกันควบคุมโรค ในปี 2579 ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคได้มีการพัฒนาระบบให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายและภัยสุขภาพที่ครบวงจร มีระบบที่ดีสามารถตรวจจับโรคและภัยสุขภาพที่รวดเร็ว ทั้งจากชุมชน โรงพยาบาลรัฐและเอกชน และที่ด่านโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้ง 68 จุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประเมินสมรรถนะอยู่ในระดับดีมาก ทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน พร้อมทั้งมีระบบการรายงานเชื่อมต่อทั่วไทยมายังศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลางแบบเรียลไทม์ และระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับการดูแลรักษา กักกัน ป้องกันการแพร่กระจายโรค ที่หน่วยโรคติดต่ออันตราย สถาบันบำราศนราดูร ที่ได้รับการยอมรับว่ามีการจัดการที่ดีที่สุดของประเทศ และตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์ที่ดีที่สุดในอาเซียน
สำหรับด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผลการดำเนินงานเป็นอันดับ 3 ของโลก ร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (World NCD Progress Monitor 2017) ในการดำเนินงานจะเน้นการใช้พลังชุมชนในการจัดการปัญหาสุขภาพด้วยตนเอง เช่น การควบคุมโรคความดันโลหิตสูงด้วยนวัตกรรมชุมชนลดเสี่ยงลดโรค ในระยะต่อไปจะพัฒนางานตามแนวทางองค์การอนามัยโลก และขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนลดเค็ม ลดโรค ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชพ.)
ในด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการดูแลสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม โดยจะผลักดันมาตรการการเงินการคลังเพื่อดูแลสุขภาพ ได้แก่ กำหนดบริการส่งเสริมสุขภาพด้านอาชีวอนามัยในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงแรงงานลดหย่อนภาษีด้วยผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายภาษีจากการปล่อยมลพิษในอากาศ สารเคมีอันตรายมลพิษปากปล่อง และการผลักดันมาตรการทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานกฤษฎีกา ผลักดันเรื่องสุขภาพให้อยู่ในนโยบายของหน่วยงานอื่น ๆ (Health in other policies) เช่น พ.ร.บ.แร่ 2560 พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล 2558 รวมทั้งพัฒนาองค์กรต้นแบบด้านอาชีวอนามัย สำหรับหน่วยงานภาครัฐ (Smart Office : Green Healthy Happy Eco)
นอกจากนี้ ได้เร่งผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนาม เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญ 1 ต่อประชากร 2 แสน และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคครบทุกอำเภอในปี 2565 และการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การปฏิรูประบบงานด้านการป้องกันควบคุมโรค
- 23 views