นายกเทศมนตรีนครรังสิต เผยผลพวงจาก สตง.ทักท้วงท้องถิ่นฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องหยุดฉีดยาว 1-2 ปี กว่าจะได้ความชัดเจน ระบุกฎหมายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เสนอเปิดช่องครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกประเภท
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ภายหลังมีกระแสข่าวว่าเป็นผลพวงมาจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ได้มีภารกิจจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน หากดำเนินการจะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายว่า หลังจากที่ สตง.ได้ท้วงติงและยังไม่เกิดความชัดเจนใดๆ ท้องถิ่นจึงต้องหยุดฉีดวัคซีนไป 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนั้นในพื้นที่เทศบาลนครรังสิตก็พบสัตว์ที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้าบ้าง แต่ขณะนั้นได้ทำงานร่วมกับปศุสัตว์และได้ใช้วัคซีนของปศุสัตว์ฉีดซ้ำในสัตว์ ตรงนี้ทำให้สามารถจัดการได้และไม่มีการติดโรคมาสู่คน
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการท้วงทิงจาก สตง.ค่อนข้างมาก เพราะการหยุดฉีดเป็นเวลา 1-2ปี อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงขึ้น เพราะท้องถิ่นทุกแห่งก็หยุดฉีดพร้อมกันหมด ซึ่งจริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนในอดีตท้องถิ่นก็ไม่ได้รับมาจากปศุสัตว์โดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานร่วมกับภาคสาธารณสุขเป็นหลัก แต่วันดีคืนดีกลับมาบอกว่ารัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้กับปศุสัตว์เป็นผู้ฉีดไปแล้ว เมื่อหน่วยตรวจ (สตง.) เอากฎหมายมาตรวจ สถานการณ์จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
“ที่อาจเป็นประเด็นก็คือ ถ้าพื้นที่ใดถูกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ คือยังไม่มีสุนัขเป็นบ้าแต่มีความเสี่ยง ตรงนี้เทศบาลลงไปฉีดได้หมด ฉีดฟรี และได้รับเงินจัดสรรมาฉีด แต่ถ้าพื้นที่ใดมีสุนัขตายแล้ว ถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์แล้ว ตรงนี้ต้องฉีดซ้ำทุกตัวในรอบ 1 กิโลเมตร ซึ่งเดิมเราแบ่งว่าเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงกรมปศุสัตว์อาจทำไม่ทัน ท้องถิ่นอาจต้องเข้าไปดำเนินการเอง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ถ้าท้องถิ่นจะฉีดอาจต้องขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากปศุสัตว์ หรือถ้าท้องถิ่นจะฉีดเองก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ได้นำไปฉีดซ้ำตัวเดิม คือต้องยืนยันให้ได้ว่าไม่ใช่เป็นการทุจริต” นายธีรวุฒิ กล่าว
นายธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจว่าข้อเท็จจริงในเชิงกฎหมายกับข้อเท็จจริงในเชิงระบาดไม่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงในเชิงระบาดคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ และเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา มีประกาศให้เพิ่มแมวเข้ามาอีก 1 ชนิด แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังมีสัตว์อื่นอีกมากที่ยังไม่ครอบคลุมอยู่ภายใต้เงื่อนไขการฉีดวัคซีนนี้ เนื่องจากไม่ถูกประกาศเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.พิษสุนัขบ้า ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมาดูทิศทางการแก้ไขและแนวทางการในอนาคตให้สอดคล้องต่อไป
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเรื่องของงานด้านสาธารณสุข นับเป็นการป้องกันโรค ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หลังจากนั้นมีการพัฒนาของกฎหมายอีกหลายเรื่อง มีกฎหมายที่กำหนดว่าผู้ที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้นั้นจะต้องเป็นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์ นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกันก็มีประเด็นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน โดย สตง.มองว่าทางกรมปศุสัตว์ได้รับวัคซีนไปแล้ว ท้องถิ่นก็ควรไม่จะต้องไปดำเนินการให้ซ้ำซ้อน
“ที่จริงแล้วหน่วยราชการอย่างกรมปศุสัตว์ก็ต้องทำคำของบประมาณไป เช่น ทั้งประเทศอาจต้องใช้ 1 ล้านโดส แต่ก็มีโอกาสถูกตัดงบประมาณ สุดท้ายก็ไม่สามารถรับวัคซีนไปได้หมด แต่ สตง.ไปมองว่าตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ คือ สตง.ไม่ได้มองว่าเราไปฉีดหมาตัวเดียวกันหรือไม่ แต่กลับไปมองว่า ทางปศุสัตว์ได้เงินส่วนนี้ไปแล้ว ท้องถิ่นก็ไม่ควรไปฉีด” นายธีรวุฒิ กล่าว
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจระหว่างกันและได้ข้อสรุปว่า กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้สุนัขตัวเดียวกันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ ประเด็นต่อมาคือกฎหมายระบุว่าหากเป็นสุนัขที่มีเจ้าของก็จะต้องเก็บค่าฉีดวัคซีน วิธีการแก้ปัญหาคือปศุสัตว์ได้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ ซึ่งทำให้ท้องถิ่นสามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องเก็บเงิน อย่างไรก็ตามในปีนี้รัฐได้อุดหนุนตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า มีการจัดสรรงบเข้ามาให้ท้องถิ่นฉีดเอง ตรงนี้ทำให้ชัดเจนขึ้นและทำให้ปัญหาทุเลาลง
- 96 views