ผู้ว่าการ สตง.ชี้การใช้จ่ายงบกองทุนสุขภาพระดับตำบลในภาวะเร่งด่วนวิกฤตโควิด-19 อาจมีข้อผิดพลาดบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำหากสงสัยการใช้จ่ายงบประมาณสามารถสอบถาม สตง.ได้และมีผลคุ้มครองตามกฎหมาย ด้าน สธ.เตรียมเสนอแผนเปลี่ยนผ่านกึ่งล็อกดาวน์ให้สังคมไทยอยู่กับโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ "การใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นอย่างไรเพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ" เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ร่วมอภิปราย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป็นเวลา 3 เดือนครึ่งแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยพฤติกรรมทางสังคมมาเกี่ยวข้อง ประเทศไทยมี 7,500 ตำบล และไทยมีระบบสุขภาพชุมชน ถ้าพื้นที่เหล่านี้เข้มแข็งก็ควบคุมป้องกันโรคได้
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณที่หมุนเวียนในกองทุนสุขภาพระดับตำบลมีปีละ 3,800 ล้านบาท ขณะนี้มีกว่า 4,000 ตำบลที่ใช้งบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 600 ล้านบาทในเรื่องสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ การป้องกัน หาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากาก และการเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้มาจากต่างจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยง
"โควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจต้องเดินหน้า กิจกรรมต่างๆ ที่จะกลับมาดำเนินการจะทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องมีคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามหาแนวทาง แต่คนปฏิบัติคือท้องถิ่น ถ้า 7,500 ตำบลขับเคลื่อนตามทิศทางของ สธ. และรัฐบาล ปัญหาต่างๆ จะเกิดน้อยลงและทำให้ดำรงชีวิตในสังคมร่วมกันได้" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ด้าน นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวถึงการใช้งบกองทุนสุขภาพในระดับตำบล ของเทศบาลนครรังสิตในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ว่า เทศบาลนครรังสิตใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลใน 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.กิจกรรมที่มีผลกระทบกับประชนในเชิงพื้นที่ 2.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติที่เป็นอาสาสมัคร และ 3.สนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท โดยช่วงแรกอนุมัติผ่านคณะกรรมการ แต่ต่อมาใช้อำนาจประธานกองทุนอนุมัติโครงการวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้การดำเนินงานคล่องตัวมากขึ้น
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงแรก ได้พัฒนาการสอนวิธีทำหน้ากากโดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขอรับเงินไปดำเนินงาน ต่อมาคือการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวังในเชิงพื้นที่ จัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนใช้ และเมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงปัจจุบันก็มีการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็ได้นำองค์ความรู้และอุปกรณ์ป้องกันไปให้ รวมทั้งกลุ่มอาชีพผู้ให้บริการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ประกอบการรถตู้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็ต้องสร้างมาตรฐาน ให้ความรู้และให้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเช่นกัน และระยะต่อไปเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ก็ได้เตรียมรับข้อมูลองค์ความรู้จาก สธ. และแนวปฏิบัติของรัฐเพื่อส่งต่อไปยังอาชีพต่างๆ เช่น ถ้าผ่อนคลายเรื่องร้านตัดผม จะเตรียมส่งต่อองค์ความรู้และแนวปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น
นายธีรวุฒิ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อนุมัติงบประมาณไปตั้งแต่ต้นปีแล้วไม่เหลืองบประมาณมาใช้ในช่วงการระบาดนี้ จริงๆ แล้วเป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนในการพิจารณา หน่วยงานที่ทำโครงการสามารถขออนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการได้ ยิ่งกรณีนี้เป็นโรคระบาด เป็นมิติเรื่องการป้องกันซึ่งก็เป็นอำนาจของกองทุนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าภาคีจะหารือว่าโครงการที่อนุมัติแล้วจะปรับอย่างไร
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้ออยู่อันดับ 5 ในอาเซียน และอันดับ 47 ของโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,733 คน รักษาหาย 1,928 คน กำลังรักษา 758 คน ผู้ป่วยอาการหนักไม่เกิน 5% เสียชีวิต 47 คน ยังไม่เกิน 2% ของผู้ติดเชื้อ ตัวเลขเหล่านี้บอกถึงความสำเร็จในระดับหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลวางแผนและตัดสินใจผลักดันให้คนจำนวนมากกลับไปสู่ต่างจังหวัด ในช่วงนั้นก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสร้างภาระหรือเพิ่มการติดเชื้อในต่างจังหวัดหรือไม่ ขณะที่อีกข้อมูลพบว่าการควบคุมโรคใน กทม.ซึ่งมีประชาชนหนาแน่น การสอบสวนโรคจะทำได้ยากกว่า รัฐบาลจึงตัดสินใจผลักดันให้กลับต่างจังหวัด และใช้องคาพยพของท้องถิ่นทั้งหมด จัดการการแพร่ระบาด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าท้องถิ่นทำได้สำเร็จมากกว่า
"วันนี้พิสูจน์แล้วว่าการควบคุมของท้องถิ่น ทีมงานที่เกิดจากผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จังหวัด และกลไก อสม. ในการคัดกรองและควบคุมมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดยากขึ้น ตัวเลขก็ชี้วัดว่าการระบาดในต่างจังหวัดลดลง"
นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าถ้าคุมการระบาดแบบล็อกดาวน์แล้วปล่อยเศรษฐกิจฟุบนานเกินไป การฟื้นตัวจะเป็นปัญหามาก ดังนั้นต้องสร้างสมดุลให้ดี ขณะนี้ สธ.กำลังทำแผนเปลี่ยนผ่านกึ่งล็อกดาวน์ เพื่อให้สังคมไทยอยู่กับโควิด-19 ในระดับที่ไม่มากนัก พร้อมไปกับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแผนนี้จะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้านนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับความเห็นและข้อสอบถามจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ว่าการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในช่วงสินค้าขาดแคลน ราคามาตรฐานไม่สามารถจัดซื้อได้ ถ้าซื้อแพงกว่าราคามาตรฐานจะมีการตรวจสอบภายหลังหรือไม่ ตนขอให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการของ สตง.มีเป้าหมายเดียวกันในการป้องกันโรคระบาดเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าผู้ปฏิบัติงานมีเจตนาบริสุทธิ์ มีเจตนาช่วยเหลือประชาชน ขอให้ดำเนินการไปเลย นอกจากนี้ตนยังสื่อสารไปยังบุคลากร สตง.ที่ทำหน้าที่เรื่องนี้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ การดำเนินการใดๆ ในภาวะเร่งด่วนอาจมีข้อผิดพลาดบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น
"สตง.ก็กังวลเหมือนกันว่าการตรวจสอบของเรา จะไปเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่กล้าดำเนินงานหรือไม่ ก็ได้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้มั่นใจว่าเมื่อเหตุการณ์จบลง จะต้องไม่ได้รับผลกระทบต่างๆ ในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เราประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ว่าจะทำอย่างไรให้เขาทำงานคล่องตัว กระทรวงมหาดไทย กรมบัญชีกลาง ก็ผ่อนปรนกฎระเบียบในหลายกรณีเพื่อให้ทำงานได้ทันกับสถานการณ์ เรื่องนี้เราสนับสนุนเต็มที่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของเราก็พร้อมให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อสงสัย"นายประจักษ์ กล่าว
นายประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบของ สตง.จะมุ่งถึงผลสัมฤทธิ์ นั่นคือความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ การใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลให้มีประสิทธิภาพก็คือต้องดูผลสัมฤทธิ์ว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ตามต้องการหรือไม่ สามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ตามเป้าที่ต้องการหรือไม่ จากตัวเลขในตอนนี้ถือว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี ส่วนประสิทธิการภายใต้การดำเนินงานอย่างเร่งด่วน คิดว่าในสถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่ทำมาจนถึงปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร
นายประจักษ์ยังกล่าวด้วยว่า หากหน่วยงานต่างๆ มีข้อสงสัยในการใช้จ่ายงบประมาณ ก็สามารถสอบถาม สตง.ได้ ในกฎหมายฉบับใหม่ของ สตง. ได้เปิดช่องให้ สตง.ให้คำปรึกษาได้อย่างเต็มที่ และเมื่อตอบคำถามไปแล้วและมีการดำเนินการตามนั้นจะมีผลคุ้มครองตามกฎหมายด้วย
"การเตรียมการในระยะต่อจากนี้ เชื่อว่าเรามีเวลาพอในการประมวลข้อมูลต่างๆ มาบริหารจัดการวางแผนกำหนดโครงการต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพได้ สตง.ยินดีร่วมมือกับทุกหน่วยงาน การดำเนินการใดๆ ถ้าไม่มั่นใจ ก็สามารถขอคำปรึกษาหรือคำตอบจาก สตง.ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีเหตุการณ์อันเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือมีกลุ่มคนฉวยโอกาสในภาวะวิกฤติหาผลประโยชน์ส่วนตน ขอให้มั่นใจว่า สตง.จะทำหน้าที่ในส่วนนั้นเช่นกัน" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
- 138 views