สปสช.เขต 7 ขอนแก่น แนะ อปท.ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ทำโครงการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนผู้สัมผัสเชื้ออย่านิ่งนอนใจรีบไปฉัดวัคซีนป้องกันได้ทุกโรงพยาบาลใกล้บ้าน
จากกรณีพบสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ในหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และบางพื้นที่อำเภอได้ถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์แล้ว ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งเชื้อพิษสุนัขบ้า (Rabies) ในน้ำลายสุนัข สามารถติดต่อไปสู่คน โค กระบือ สุนัข แมว หนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นได้โดยผ่านทางบาดแผลเป็นสำคัญ ผู้ที่ติดเชื้อมักจะเสียชีวิต ในช่วงนี้ประชาชนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรระดมความช่วยเหลือในพื้นที่โดยเร่งด่วน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาล และ อบต.ที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สามารถใช้งบประมาณในกองทุนดังกล่าวสนับสนุนให้โรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสำนัก/กอง/ส่วนสาธารณสุขฯ ในเทศบาล/อบต. จัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อลดอุบัติการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตในประชาชน
ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.2557 ข้อ 5 กรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ได้ ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในตัวสัตว์ เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ โดยตรง
ทั้งนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดในความรับผิดชอบของ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น คือ ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จำนวน 717 แห่ง จากทั้งหมด 718 แห่ง
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสน้ำลายสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถไปใช้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) ในการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งแรก กรณีเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน สปสช. โทร.1330 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
- 69 views