เตรียมขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ภาคอีสาน” 22 สิ.ค.61 นี้ ที่ มจร.ขอนแก่น สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เผยผลสำรวจพระสงฆ์ส่วนหนึ่งยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิ จึงยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท แนะยื่นขอทำบัตรประชาชน หลังจากนั้นขอย้ายสิทธิมารักษาที่ รพ.ใกล้วัดได้

รศ.ดร.พระโสภณพัฒนบัณฑิต

รศ.ดร.พระโสภณพัฒนบัณฑิต รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า วันที่ 22 สิงหาคม 2561 ที่จะถึงนี้ จะมีเวทีเปิดตัวการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และสื่อสารการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แก่พระสงฆ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในระดับพื้นที่ โดยมี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน ซึ่งในงานจะมีเวทีเสวนา การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์บนแผ่นดินอีสาน นิทรรศการและกิจกรรมการดำเนินงาน เกี่ยวกับสุขภาวะของพระสงฆ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ พระสงฆ์ถือว่าเป็นศาสนบุคคลสำคัญของศาสนาพุทธ ซึ่งมีหน้าทีในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีสุขภาพดี แต่ปัจจุบันจากสถิติพบว่าพระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคปอด เบาหวาน และโรคหัวใจ จำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการฉันอาหารหวาน มัน เค็ม เกินไป และการบริหารกายน้อย ดังนั้นเมื่อมีธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์ ปี 2560 ซึ่งมีเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ การที่ให้พระสงฆ์ดูแลกันเองด้านสุขภาพ ญาติโยมจะเข้ามาดูแลพระสงฆ์ และพระสงฆ์ในฐานะผู้นำชุมชนจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่สุขภาพดี

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ได้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มีผลในทางปฏิบัติ โดยได้รับฟังความคิดเห็นประเด็นพระสงฆ์กับความมั่นคงทางสุขภาพ ขึ้นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของพระสงฆ์ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พระสงฆ์มีหลักประกันสุขภาพ และเข้าถึงบริการสุขภาพได้จริง และไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ซึ่งเมื่อได้รับข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วก็มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยการถวายความรู้ให้กับพระสงฆ์ในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการผลักดันให้เกิดรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลสุขภาพพระสงฆ์โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เช่น การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

นพ.ปรีดา กล่าวว่า เมื่อพระสงฆ์เจ็บป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษา การรับรู้สิทธิในการรักษาจึงสำคัญ จากการสำรวจพระสงฆ์ส่วนหนึ่งยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิซึ่งใช้แสดงความเป็นพระสงฆ์ แต่การมีบัตรประชาชนแสดงถึงความเป็นคนไทยที่จะได้รับสิทธิตามกฎหมาย เช่น การได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ดังนั้น พระภิกษุ สามเณร จะต้องทำบัตรประชาชน โดยการทำบัตรนั้นขอให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของวัด และจะต้องใช้คำนำหน้านาม หรือวงเล็บชื่อตัวชื่อสกุลต่อท้ายสมณศักดิ์ (กรณีเป็นพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์) ให้ถูกต้องตรงกันกับรายการที่ระบุในหนังสือสุทธิ โดยสามารถไปยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเมื่อได้รับบัตรประชาชนมาแล้วก็สามารถไปขอย้ายสิทธิบัตรทองมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้วัดได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง

นพ.ปรีดา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลจำนวนและอัตราป่วย 10 อันดับโรค ผู้ป่วยใน (พระสงฆ์) ที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ปี 2559 ในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด โรคที่พบมากที่สุด คือ 1.กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ และลำไส้ใหญ่อักเสบ 2.โรคปอด(หลอดลม)อุดกั้นเรื้อรัง 3.ปอดอักเสบ 4.โรคไตวายเรื้อรัง (ระยะที่5) ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต 5.โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด 6.โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 7.เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 8.ต้อกระจก 9.ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และ 10.ผิวหนังอักเสบ