กรมควบคุมโรค เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า หลังข้อมูล 2 เดือนมีสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าปีที่แล้ว 1.5 เท่า แนะประชาชนหากถูกกัด ข่วน เลีย ให้รีบ “ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัด” พร้อมทั้งสั่งการหน่วยงานเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครบ 100%
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมว และโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อเเละมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1.ประชาชนไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2.ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3.ประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยา โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง กักหมา 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการตัดสินใจรับวัคซีนหรือไม่ และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต เเละสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชน และเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุม 100 % รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเพิ่มค้นหา และติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายและแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน
หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 205 views