สธ.หนุนเอ็นจีโอเป็นแม่งานสร้างเครือข่าย อสต. ดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เหตุเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ต่อเนื่อง ทั้งมีเครือข่ายตัวแทนในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนจัดอบรมและให้ความรู้ข้อมูลวิชาการ ชี้ อสต.เป็นกลไปสำคัญควบคุมสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ชุมชนต่างด้าว
นพ.อภิชาติ รอดสม
นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 6 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) เป็นกลไกสำคัญของการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในชุมชน ทั้งสอดส่องสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ เนื่องด้วยปัญหาแรงงานข้ามชาตินอกจากมีจำนวนที่ไม่แน่นอนแล้ว ยังมีทั้งผู้ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและผู้ที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียน 1.5 ล้านคน แรงงานกลุ่มนี้นอกจากจะได้รับการคัดกรองสุขภาพแล้ว ยังมีบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าวรองรับในการเข้ารับบริการสุขภาพยังหน่วยบริการได้ ขณะที่ภาพรวมแรงงานข้ามชาติในประเทศทั้งหมดคาดว่ามีจำนวน 3.5 ล้านคน นั่นหมายถึงการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ไม่ครอบคลุม อาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและโรคติดเชื้อได้ อย่างเช่น โรคเท้าช้าง วัณโรค และซิฟิลิส เป็นต้น จำเป็นต้องมีระบบดูแลที่นำไปสู่การป้องกันและติดตาม เพื่อควบคุมโรค โดยมี อสต.เป็นกลไกหนึ่ง
ในการดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ด้วยจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่มีโรงงานตั้งอยู่จำนวนมาก รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่ ทำให้สมุทรสาครมีการจัดการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบที่สุด หรือที่เรียกว่า สมุทรสาครโมเดล นอกจากการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ในการออกหน่วยแล้ว ยังมีการสนับสนุนสร้างเครือข่าย อสต.เพื่อประสานการทำงานระหว่างชุมชนในพื้นที่และหน่วยบริการ โดยมีการจัดอบรมแรงงานข้ามชาติที่ร่วมทำหน้าที่ อสต. ใช้เวลาอบรมในช่วงวันสาร์และอาทิตย์ และปฏิบัตติงานโดยเก็บชั่วโมง ให้มีความรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติด้วยกันในพื้นที่ได้
ทั้งนี้การทำงาน อสต.เป็นการทำงานโดยจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งในการสนับสนุนการทำงาน อสต. นอกจากการจัดอบรมแล้ว ในพื้นที่สมุทรสาครยังสนับสนุนชุด อสต. บัตร อสต. กระเป๋าและเวชภัณฑ์บางส่วนที่จำเป็นในการทำหน้าที่
ส่วนการสนับสนุนนโยบาย อสต.ระยะยาวนั้น นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ด้วยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ซึ่งได้ทำงาน อสต.อย่างต่อเนื่อง และมีเครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่เข้มแข็ง ใจจริงจึงอยากให้การดำเนินงานด้าน อสต.ถ่ายโอนไปยังเอ็นจีโอที่ทำเรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเอ็นจีโอ เองได้เคยนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อขอเป็นผู้ประสานงานในการจัดระบบ อสต. โดยของบประมาณสนับสนุนเพื่อจัดระบบ ซึ่งมุมมองส่วนตัวขอสนับสนุน เพราะดีกว่าที่ภาครัฐจะดำเนินการเอง เนื่องจากเอ็นจีโอมีความใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่มากกว่า น่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่า ขณะที่ภาครัฐเองมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1.2 ล้านคนที่ต้องดูแลและพัฒนา ซึ่งก็เต็มที่แล้ว หากต้องดูแล อสต.เพิ่มอีกคงหมดแรงงานไปก่อน เพราะด้วยบุคลากรเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำกัด ดังนั้นเรื่องนี้จึงสนับสนุนให้เอ็นจีโอรับไปดำเนินการ นอกจากนี้ต้องดึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการเข้ามาส่วนร่วมเพราะเป็นภาคที่ได้รับประโยขน์จากแรงงานข้ามชาติ
สำหรับงบประมาณสนับสนุนเครือข่าย อสต.นั้น นพ.อภิชาติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนในส่วนของการจัดอบรมและการให้ความรู้ด้านวิชาการกับ อสต. แต่หากเป็นการสนับสนุนงบการดำเนินงาน อสต. โดยใช้งบจากกองทุนสุขภาพแรงงานข้ามชาติเลยนั้น เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกัน
ต่อข้อซักถามว่า มีข้อเสนอจากเอ็นจีโอที่อยากให้ผลักดัน อสต.เป็นระบบ เช่นเดียวกับ อสม.นั้น นพ.อภิชาติ กล่าวว่า อสม.กับ อสต.ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นทำโดยจิตอาสาเช่นเดียวกัน โดย อสม.จะมีการลงทะเบียนและมีพื้นที่ทำงานสุขภาพที่ชัดเจน มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การทำงาน ขณะที่ อสต.มีการเคลื่อนย้ายเข้าออก และไม่มีการลงทะเบียน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานระหว่างหน่วยบริการและแรงงานข้ามชาติ ครม.ได้อนุมัติยกเว้นให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ เพื่อทำหน้าที่ “ผู้ประสานงานด้านภาษา” ให้กับหน่วยบริการในพื้นที่ได้ จากเดิมที่ยกเว้นเฉพาะอาชีพกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น โดยมีการให้รายได้ที่ชัดเจน โดยทั่วประเทศคาดว่ามีประมาณร้อยคน เฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครมีประมาณ 20 คน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพในกลุ่มแรงงานงานข้ามชาติ
- 31 views