สสส.-มส.ผส. ชงรัฐคลอดนโยบาย “พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ” ป้องกันถูกละเมิด สกัดความรุนแรง หลังพบ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ ถูกทำร้ายจิตใจ ปัญหาขาดการดูแล หลอกหลวงเพิ่ม 10 เท่า พร้อมเสนอระบบพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ โดยครอบครัว มั่นใจช่วยปูรากฐานก่อนเข้าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงแรมแมนดาริน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยต้องก้าวไกลให้ทันการเปลี่ยนแปลง ในเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ว่า จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่าปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่า เคยถูกกระทำรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ อันดับที่ 2 คือ การทอดทิ้ง ไม่ดูแล สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) พบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล เพิ่มเป็น 10 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาลูกหลานดูแลผู้สูงอายุไม่ไหว และสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด
สำหรับปัญหาความรุนแรงอันดับ 3 คือการเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน โดยคนในครอบครัวหรือคนภายนอก หรือถูกหลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หลอกให้ทำธุรกรรม จาก 70 ราย ในปี 2548 เพิ่มเป็น 700 ราย ในปี 2559 จะเห็นได้ว่าขนาดของปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า
พล.อ.อนันตพร กล่าวต่อว่า อันดับที่ 4 คือปัญหาความรุนแรงในการทำร้ายร่างกาย ซึ่งมักพบปัญหานี้จากการนำเสนอของสื่อ คนที่ทำร้ายร่างกายมักเป็นคนใกล้ตัว ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่พบว่าผู้ทำร้ายมีปัญหาสุขภาพจิต หรือติดสุรา สารเสพติด เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และอันดับ 5 คือความรุนแรงทางเพศ ถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือในชุมชน และมักเกิดกับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพัง นอกจากนี้การศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุพบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้สูงอายุ คือ เมื่อสูญเสียคู่ครองหรือสมาชิกในครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยจนต้องอยู่ในสภาวะพึ่งพิง และเมื่อเกิดอาการโรคสมองเสื่อม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการสร้างความรู้ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเกิดการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งในการด้านสภาวะทางกายและใจ และการจัดการทรัพย์สินตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และสังคมสูงอายุระดับสุดยอดของประเทศไทยในอนาคต
ซึ่งการจัดเวทีครั้งนี้ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความจำเป็นในการสร้างระบบ มาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทาง/ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ภัทรพร คงบุญ
ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อป้องกันปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิด และการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ จากผลวิจัย“การศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิ และประเมินสถานการณ์เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ พบว่า เหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ มาจากการที่ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิ์ ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯสามารถจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดในอนาคต สำหรับนิยามของผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯ คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ปรกติตามอัตภาพ คุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิด หรือได้รับประโยชน์ตามสิทธิที่ควรได้ ทั้งสิทธิส่วนบุคคล การรักษาพยาบาล
เบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่การให้สมาชิกครอบครัวทำหน้าที่นี้เป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุต่างต้องการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างมีความสุข โดยผลวิจัยเสนอให้เกิดระบบการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ควรดำเนินการไปพร้อมกับการป้องกันอันตราย และการรักษาผลประโยชน์ ขณะเดียวกันควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมาย และการถูกละเมิดสิทธิผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจการถูกละเมิดสิทธิและสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ผู้สูงอายุ รวมถึงควรจัดบุคลากรรัฐไปให้คำปรึกษาด้านสิทธิและกฎหมาย ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านทรัพย์สิน
- 72 views