“พล.อ.อนันตพร” วางเป้าความร่วมมือ “รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม” เน้น 3 สร้าง “สังคมไทยไร้ความรุนแรง-SE-สังคมผู้สูงอายุ” วอนอย่างมองแค่วาระการเมือง มุ่งสานต่อกลไกพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 2 ปี (ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ 2.ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ 3.ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย 4.ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุ และ 5.ด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมมอบโล่ห์รางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย (Building a Good Society Award) จำนวน 20 รางวัล และเกียรติบัตรรางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย จำนวน 18 รางวัล
โดย พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน แต่สามารถเติมเต็มการทำงานร่วมกันได้ อาทิ การส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ ที่มีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งรัฐมีจุดแข็งคือการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ เป็นข้อบังคบ และมีฐานข้อมูลคนพิการ แต่มีบุคลากรน้อยและไม่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอาชีพให้ตรงความต้องการตลาดแรงงาน ขณะที่ภาคเอกชนมีประสบการณ์ในการช่วยฝึกอาชีพ พัฒนาศักยภาพ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนพิการได้
ขณะที่ภาคประชาสังคมก็ทำหน้าที่เป็นข้อต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะกับคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ และเข้าใจความต้องการของคนพิการ รวมถึงภาคการศึกษาวิชาการ ทำหน้าที่ช่วยพัฒนานวัตกรรมทางสังคมต่างๆ เมื่อเกิดข้อติดขัดก็ใช้เวทีการประชุมคณะทำงานฯ เป็นเวทีกลางในการพิจารณาวางแนวทางในการแก้ไข ซึ่งแต่ละประเด็นถือว่ามีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ที่คณะทำงานฯ จะเน้นและให้ความสำคัญในการสร้าง 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยเฉพาะการปรับเจตคติของสังคม ไม่ให้มองความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ผู้ถูกกระทำไม่กล้าร้องทุกข์ ทั้งที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 และมีกระบวนการช่วยเหลือพร้อมอยู่แล้ว 2.การสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งเป็นการนำ “ผลกำไร” มาบวกกับ “การสร้างประโยชน์แก่สังคม” และให้เกิดความยั่งยืนในตัวเอง โดยเฉพาะกับคนพิการและผู้สูงอายุ และ 3.การสร้างสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเดินหน้าต่อไป และทำให้เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
“อย่างไรก็ตามไม่อยากให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นวาระทางการเมือง หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพียงแต่รัฐบาลนี้ได้ยกระดับและสร้างกลไกคณะทำงานขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้นแม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่หากเครือข่ายยังร่วมกันเดินหน้าต่อไปก็จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป” พล.อ.อนันตพร กล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาช่วยให้เกิดการแก้ไข ทำความเข้าใจต่อประเด็นข้อจำกัด หรือการหนุนเสริมรายละเอียดต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ในส่วนของภาคประชาสังคม จะยังคงหนุนเสริมและร่วมขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตามความสามารถและความถนัดของแต่ละองค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังได้เรียนรู้แนวคิดการทำงานในรูปแบบของภาคเอกชน และเป็นภาคีที่จะร่วมกันทำงานพัฒนาสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป สสส. และภาคีเครือข่าย มีการทำงานที่หนุนเสริมและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ พม. อยู่แล้ว ทั้งการขับเคลื่อนประเด็นความรุนแรงในครอบครัว สตรี และผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พัฒนาระบบและความพร้อมประชาชนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนดำเนินงานต่อเนื่อง
“สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนากลไกระบบการคลังเพื่อสังคม (Social Impact Finance) เพื่อเป็นทางเลือกของการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านการพัฒนาสังคม โดยขณะนี้ได้ศึกษาในระยะที่หนึ่งเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการออกแบบ ดำเนินการ และให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เน้นเชิงป้องกัน และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมทางบวกที่เป็นรูปธรรม และลดค่าใช้จ่ายงบประมาณรัฐในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยศึกษาใน 3 ประเด็น ได้แก่ คนพิการ เด็กด้อยโอกาส และผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ซึ่งการดำเนินการในช่วงต่อไปจะเป็นการทดลองภายใต้โครงการนำร่องและติดตามประเมินผล เพื่อนำมาสู่การพัฒนารูปแบบและขยายผลในระยะต่อไป โดยคาดหวังว่าแนวทางการดำเนินงานนี้จะสามารถเป็นกลไกพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาสังคมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแขงให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม ถือเป็นพันธกิจที่ภาคธุรกิจดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายหลังมีกลไกการทำงานตามแนวทางสานพลังประชารัฐ ได้ช่วยให้การประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็งและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทำงานครอบคลุมในหลายมิติ อาทิ ทั้งการใช้ศักยภาพของแต่ละธุรกิจเข้าไปช่วยหนุนเสริมการพัฒนาสังคม รวมถึงความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มต่างๆ และที่ผ่านมาการดำเนินงานคืบหน้าไปมาก ในส่วนหอการค้าไทยและบริษัทเอกชนในเครือข่ายประชารัฐ ได้ขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการจนปัจจุบันภาคธุรกิจจ้างงานคนพิการ (ม.33, ม.35) ถึง 50,182 อัตรา เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 13,163 อัตรา ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ไม่เพียงช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความสุขให้กับผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกด้วย
- 58 views