สาธารณสุข - ศึกษาธิการ พัฒนาด้านวิชาการ ระบบบริการ การวิจัย ของเขตสุขภาพ กับ 20 คณะแพทยศาสตร์ ตามยุทธศาสตร์จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แบบไร้รอยต่อ สะดวก รวดเร็ว กำหนดเป็นตัวชี้วัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะ 1 ปี อย่างน้อยเขตละ 1 เรื่อง
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 – 10 ปี) เป็นความร่วมมือในการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระบบส่งต่อที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ การพัฒนาบุคลากร และการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่าง 12 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กับ 20 คณะแพทยศาสตร์ ของ 19 มหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ พบว่าทุกเขตสุขภาพ ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ พัฒนาใน 3 เรื่อง ทั้งด้านวิชาการ ระบบบริการ และการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น
ครอบคลุมความเชี่ยวชาญใน 5 สาขา ได้แก่ การผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด มะเร็ง และปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริการผ่าตัดหัวใจ สามารถลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยที่สุด อันดับ 1 ของประเทศ ลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดหัวใจจาก 8 เดือน เหลือ 6 เดือน มีการผลิตพัฒนาบุคลากรในหลากหลายหลักสูตร อาทิ เวชศาสตร์ชุมชน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) พยาบาลเฉพาะทาง เป็นต้น พร้อมทั้งมอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ หารือกับคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกันกำหนดการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ และกำหนดเป็นตัวชี้วัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะ 1 ปี อย่างน้อยเขตละ 1 เรื่อง
- 93 views