กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเวทีรับฟังผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจการ การให้บริการ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเครือข่ายพันธมิตรในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ ตามนโยบายและประกาศควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข และภารกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการคุ้มครองบริโภค ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ตามกฎระเบียบด้านเครื่องมือแพทย์ (ASEAN Medical Device Directive) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการแสดงเอกสารตาม Common Submission Dossier template (CSDT) ที่สำคัญคือข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาหน่วยตรวจ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปประกอบการขึ้นทะเบียน
ซึ่งเครื่องมือแพทย์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การตรวจสอบคุณภาพนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.เครื่องมือแพทย์ที่มีกำลัง เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่อง MRI เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจ เครื่องวัดความดันโลหิต,
2.อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดให้น้ำเกลือ สำลี ถุงยางอนามัย กระบอกฉีดยา
และ 3.เครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (In Vitro Diagnostic (IVD) medical devices) เช่น น้ำยาสำหรับวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV, HBV, HCV
ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหลายหน่วยงานให้บริการ ได้แก่ สำนักยาและวัตถุเสพติด สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สถาบันชีววัตถุ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้ตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ในการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของไทย และนำพาไทยไปสู่การเป็น“Medical Hub” ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนาขีดความสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ จึงจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่มีความสอดคล้องกับสากลมากขึ้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงจัดสัมมนาผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเครื่องมือแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แสดงความคิดเห็น ประเด็นที่มีความกังวลใจ และให้ข้อเสนอแนะต่องานด้านการให้บริการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนนโยบายการดำเนินงาน แผนงาน กิจการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อนำไปพัฒนาระบบการบริหารงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแผนพัฒนาการให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยการพัฒนาให้ทุกหน่วยงานในสังกัดให้มีการรายงานในรูปแบบเดียวกัน, การพัฒนาระบบการชำระเงินอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์ เป็นต้น
“การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็นประเด็นที่มีข้อกังวล และข้อเสนอแนะต่องานการให้บริการทางด้านเครื่องมือแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้เกิดการยอมรับและความเข้าใจต่อกัน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
- 126 views