ประสิทธิภาพของการใช้ยาทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ เนื่องจากยาจะมีคุณอนันต์เมื่อใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ แต่จะมีโทษอย่างมหันต์หากใช้ไม่ถูกต้องและไม่สมเหตุผล
ในทศวรรษที่ผ่านมามีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ยาเกินความจำเป็น การใช้ยาอย่างไม่เต็มที่หรือไม่ต่อเนื่องพอที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมไปถึงการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ ไม่ถูกสถานการณ์ หรือ ผิดเวลา จนก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและผลิตภาพ และความเสียหายกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ในประเทศไทยเองการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยเฉพาะการดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital; RDU Hospital) มีขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ก็เพื่อให้เกิดการดำเนินการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างให้เป็นระบบงานปกติ รวมทั้งสร้างความตื่นตัวให้โรงพยาบาลต่อเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลในประเทศไทย
มีการศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ของไทยซึ่งเป็นเสมือนแบบอย่างพฤติกรรมการสั่งใช้ยาให้กับแพทย์ทั้งหลายนั้นว่าเป็นไปอย่างสมเหตุผลหรือไม่เมื่อเทียบกันแนวทางมาตรฐานในการใช้ยาปฏิชีวนะ
ผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2533 พบว่า กว่าร้อยละ 90 มีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้มีการดำเนินการโครงการ Antibiotic Smart Use พบว่าค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลของทุกแผนกลดลงเหลือร้อยละ 41 สำหรับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลเพื่อการป้องกันก่อนผ่าตัด มีอยู่ ร้อยละ 79.7 และพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลเพื่อการรักษาโรคติดเชื้อ มีอยู่ร้อยละ 40.2
โดยรูปแบบของการใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุผล ประกอบด้วย ระยะเวลาการใช้ไม่ถูกต้อง การป้องกันโดยไม่จำเป็น และการเลือกใช้ยาไม่เหมาะสมกับโรค
และในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2554 มีการสำรวจพบว่า อัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน คือ โรคหวัด ไอ เจ็บคอ ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 56 (บางโรงพยาบาลสูงถึงร้อยละ 80-90) ทั้งที่เป้าหมายอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนที่ตั้งไว้คือไม่เกินร้อยละ 20 เท่านั้น
นอกจากนี้พบว่าอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 49 (บางโรงพยาบาลสูงถึงร้อยละ 75-80) ทั้งที่เป้าหมายอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่ตั้งไว้คือ ไม่เกินร้อยละ 20 เท่านั้น
ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบุคลากรทางการแพทย์
จากการศึกษาความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยากลุ่ม Anti-hypertensive drugs, Anti-diabetic drugs, และ Dyslipidemia drugs ในบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งใช้ยา ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเวชปฏิบัติ ในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ RDU hospital ในปี 2557 พบว่า ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของผู้สั่งใช้ยาและหลักฐานเชิงประจักษ์ อันได้แก่ มาตรการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสั่งใช้และจ่ายยาที่โรงพยาบาลได้ทำอยู่นั้นได้แสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความตระหนัก เห็นความสำคัญของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีระบบที่คอยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาอยู่หลายระบบ ดังนั้น โครงการฯ จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะเป็นโอกาสและแรงผลักจากภายนอกที่จะช่วยเสริมงานประจำที่ทำอยู่ ทั้งในเชิงนโยบาย สนับสนุนแนวทางในการทำงาน และเครือข่าย
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ของบุคลากรทางการแพทย์คือ วิชาชีพ บทบาทหน้าที่ของงานที่ได้รับมอบหมาย ความสนใจส่วนบุคคล ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระยะเวลาในการปฏิบัติงาน สถาบันการศึกษา เนื้อหาของหลักสูตรที่ได้เรียนมา ความทันสมัยของความรู้โอกาสในการได้รับการพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ การมีระบบควบคุมตรวจสอบความคลาดเคลื่อนทางยา ระบบประกันคุณภาพ และ ระบบป้องกันความเสี่ยงในโรงพยาบาล รวมไปถึงโอกาสของการได้รับรู้และรับผิดชอบผลกระทบอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการสั่งใช้ยาของตนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย วิธีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลด้วยการจัดประชุมวิชาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยเฉพาะประเด็นที่ถูกต้องและทันสมัย รวมไปถึงการทบทวนแนวทางการรักษาบ่อยๆ นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผลคุ้มค่า
นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตั้งแต่ต้นจะส่งผลในด้านบวกต่อการพัฒนาความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลได้ดียิ่งขึ้น
แนวทางในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของบุคลากรทางการแพทย์
ประเด็นที่ 1) องค์ประกอบสำคัญในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
1) การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร แล้ว “ติดอาวุธ” ให้พยาบาลเพื่อช่วยคัดกรองและกระตุ้นเตือน
2) ระบบสารสนเทศและ “IT man”เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเตือนและให้ข้อมูลย้อนกลับที่สะท้อนพฤติกรรมการสั่งใช้ยาของบุคลากรทางการแพทย์ และยังทำให้ RDU hospital project ไม่ไปเพิ่ม workload ให้กับคนทำงาน
3) ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงพยาบาล ที่ต้องกล้าตัดสินใจในบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคณะกรรมการ PTC
4) ระดับนโยบายมีการให้คุณให้โทษตามระดับผลของการดำเนินโครงการเหมือนที่เคยทำในโครงการ ASU
ประเด็นที่ 2) รูปแบบและกลไกที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินโครงการโรงพยาบาลใช้ยาสมเหตุผล ในระยะเริ่มต้นคือรูปแบบของเครือข่ายระดับจังหวัด และกลไกที่เอื้อให้เกิดการประสานความร่วมมือของสหวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ ได้มากที่สุดคือ กลไกของ service plan
ประเด็นที่ 3) แนวคิดเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบุคลากรทางการแพทย์ ระดับปัจเจกบุคคล คือ การอาศัย CTP-MEE concept นั่นคือ ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยอาศัยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การมีครูที่เป็น role model ในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเมื่อสำเร็จการศึกษามาทำงานแล้วก็ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมงานที่มีพฤติกรรมการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นต้องมีคุณลักษณะผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต อันได้แก่ เป็นผู้เปิดใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง กระตือรือร้นสนใจใฝ่หาความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา
ประเด็นที่ 4) มีนโยบายระดับชาติด้านการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลจะช่วยผลักดันให้ผู้บริหารของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นความสำคัญของโครงการมากยิ่งขึ้น และ เมื่อประเด็นนี้กลายเป็นนโยบายของกระทรวงก็จะถูกแปลงไปเป็นเป้าหมายการดำเนินงานของโรงพยาบาลในระดับต้นๆ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในโรงพยาบาลซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่งของโครงการก็จะเกิดตามมาโดยอัตโนมัติ
ประเด็นที่ 5) มีการขยายกรอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลลงไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิ
เก็บความจาก
กมลนัทธ์ ม่วงยิ้ม และคณะ. ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบุคลากรทางการแพทย์. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), 2560.
- 1643 views