กินยาปฏิชีวนะ ผลข้างเคียง เสี่ยงโรค AAC แบคทีเรียตัวร้ายเติบโต ปล่อยสารพิษจนทำลายผนังบุลำไส้ใหญ่ แพทย์เตือน! การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล เกินจำเป็น จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
จากโพสต์ของเพจเรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ที่เผยแพร่ภาพเอกซเรย์บริเวณท้องของผู้ป่วย เห็นลมและแก๊สเต็มท้อง ซึ่งเกิดจากการกินยาปฏิชีวนะนั้น
ยาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล กรรมการแพทยสภา และประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็ง ประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวกับสำนักข่าว Hfocus ถึงฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะและผลข้างเคียงว่า ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัส ถ้านำไปใช้รักษาโรคอื่น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังนำผลเสียมาสู่ผู้ป่วย จากกรณีโพสต์ดังกล่าว เป็นผลของยาปฏิชีวนะ เพราะยาไปทำลายเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดที่ตัวยามีความสามารถในการทำลาย ซึ่งยาปฏิชีวนะมีอยู่มากมายหลายชนิด และมีขอบเขตในการออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน บางชนิดออกฤทธิ์แคบเจาะจงกับแบคทีเรียบางชนิดเท่านั้น แต่ยาจำนวนมากจะออกฤทธิ์ครอบคลุมแบคทีเรียหลายชนิด เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะชื่อว่า Amoxicillin ร่วมกับ Clavulanic Acid ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Augmentin, AMK หรือ Cavumox ตัวยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์กว้าง จึงทำลายแบคทีเรียหลายชนิดที่สัมผัสโดน การออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ เมื่อสัมผัสตัวแบคทีเรียก็จะไปฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อการติดเชื้อหายไป แบคทีเรียลดลง ก็จะกลับมาสุขภาพดี แต่ในร่างกายของมนุษย์มีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทั่วทุกส่วนของร่างกาย ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค และยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพดี
"เมื่อกินยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเข้าไป จะไปทำลายแบคทีเรียเหล่านี้ด้วย จากโพสต์ดังกล่าว ตัวยาได้ไปทำลายแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะอยู่ปนกับแบคทีเรียตัวร้ายที่ซ่อนอยู่ชื่อว่า Clostridium Difficile (C. diff) ที่อยู่ในอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ในภาวะปกติแบคทีเรียชนิดนี้จะถูกควบคุมให้มีปริมาณไม่มากเกินไป ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นถูกทำลาย แต่แบคทีเรียชนิดนี้ดื้อ จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการปล่อยสารพิษหรือ Toxin ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จนทำลายผนังบุลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ลำไส้ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เกิดเป็นอากาศขังตัวอยู่ในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้โป่งพองขนาดใหญ่ตามภาพเอกซเรย์ ซึ่งเมื่อผนังลำไส้ใหญ่ถูกทำลายมากขึ้นก็จะเกิดเป็นแผล และจะมีเชื้อโรคที่หลงเหลือในลำไส้ใหญ่ บุกเข้าไปตามรอยแผล จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่การช็อค และอาจเสียชีวิตได้" ผศ.นพ.พิสนธิ์ บอกถึงอันตรายของการกินยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะทิ้งผลเสียไว้เนิ่นนาน ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
ผศ.นพ.พิสนธิ์ เพิ่มเติมว่า สารพิษนี้เมื่อทำลายผนังลำไส้ไปเรื่อย ๆ ผนังลำไส้ที่มีสีชมพู มีเลือดมาเลี้ยงตามปกติ ก็จะถูกทำลาย ผนังลำไส้บางส่วนจะตาย ผิวจะหลุดลอกออกมาเป็นชิ้น ๆ ปนมากับอุจจาระ เรียกว่า Pseudomembrane ทางการแพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า Pseudomembranous Ulcerative Colitis หรือเรียกในชื่ออื่น ๆ ว่า Antibiotic-Associated Colitis (AAC) หรือ C. diff Associated Colitis ซึ่งทั้งหมดเป็นผลตามมาจากการที่ยาปฏิชีวนะไปกำจัดแบคทีเรียประจำถิ่น ทำให้ระบบนิเวศในลำไส้ใหญ่เสีย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของคนที่เป็นโรคนี้ประมาณ 25% หรือ 1 ใน 4
"การกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์กว้างจึงมีความเสี่ยงนี้เสมอ ซึ่งโรคนี้วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากกว่าที่จะท้องเสียอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนหลังกินยา เมื่อเกิดอาการท้องเสียจะรักษาได้ยาก เพราะต้องใช้ยาที่เจาะจงต่อ C.diff ส่วนตัวยาชนิดอื่นอาจไปส่งเสริมอาการให้มากขึ้นได้ เพราะต้นเหตุของโรคเกิดจากยาปฏิชีวนะ การวินิจฉัยทางการแพทย์ของโรคดังกล่าว ต้องนำอุจจาระไปตรวจสารพิษ ซึ่งมีโรงพยาบาลน้อยแห่งที่ตรวจได้ โดยมากจะเป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น จึงทำได้เบื้องต้นด้วยการสอบถามว่า ได้กินยาปฏิชีวนะมาก่อนหรือไม่ สำหรับอาการอื่นที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการท้องอืด แน่นท้อง มีไข้ ติดเชื้อในกระแสเลือด" ผศ.นพ.พิสนธ์ กล่าวและย้ำถึงการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลว่า ในปัจจุบัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างกันอย่างพร่ำเพรื่อ จึงขอย้ำว่า ยาปฏิชีวนะทิ้งผลเสียไว้เนิ่นนาน ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ เพราะโรคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันเกิดจากเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลหรือเกินจำเป็น จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย แค่กินเม็ดเดียวก็มีปัญหาแล้ว จึงควรใช้ยาด้วยความตระหนัก
เครดิต : เพจเรื่องเล่าจากโรงพยาบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยาชุด ผิดกฎหมาย แต่ยังขายให้ผู้ป่วย เสี่ยงเกิดไตวาย จี้รัฐ-อย.จัดการด่วน!
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 20686 views