องค์การเภสัชกรรม-ปตท.เซ็นเอ็มโอยู ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งทุกกลุ่ม ชี้หากสามารถทำได้จะช่วยลดราคาลงได้กว่า 50% สร้างความมั่นคงทางยา ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
วันที่ 23 ม.ค. 2561 ณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางยา ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล ตลอดจนช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
นพ.นพพร กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขของประเทศยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100 % และมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาและสร้างภาระค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคมะเร็งสูง ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวมและเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทยังต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงในการผลิต อีกทั้งโรงงานผลิตยาจำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมภายนอก
ด้วยเหตุนี้ อภ.ในฐานะเสาหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ มีความพร้อมทั้งทางด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต รวมถึงมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามายาวนาน และมีเครือข่ายจากต่างประเทศที่จะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จึงได้เริ่มเดินหน้าศึกษาวิจัยพัฒนายาในกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งอย่างจริงจัง และมีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็ง
“การที่ อภ.สามารถสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตนเองจะสามารถลดราคายาลงได้มากกว่า 50 % ซึ่งเป็นการลดภาระด้านยาในระบบสาธารณสุขของประเทศ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในอนาคต” นพ.นพพร กล่าว
ด้าน นายอรรถพล กล่าวว่า แผนงานของ อภ. ในเรื่องการสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคมะเร็ง รวมถึงการเล็งเห็นความสำคัญของการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยานั้นสอดคล้องกับพันธกิจของ ปตท. ในการดูแลสังคมและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ปตท.จึงพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน อภ. โดยจะใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรม การบริหารโครงการ และการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงข้อมูลความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจพลังงานครบวงจรมาช่วยขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ให้สำเร็จลุล่วง เพราะการสนับสนุนให้เกิดการผลิตยาได้เองภายในประเทศ นอกจากจะช่วยให้การพัฒนายาเป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างเท่าเทียม ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจยาที่ยาวนานของ อภ. ผนวกกับความชำนาญทางวิศวกรรมการผลิตและเดินเครื่องโรงงานผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงของ ปตท. จะช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตยาโดยรวมของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของประเทศไทย 4.0 และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอรรถพล กล่าว
- 37 views