กรมการแพทย์ ชี้ปัจจุบันมีผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา 200,000 ถึง 300,000 รายต่อปี จากที่มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยยาบ้า ยาไอซ์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง รองลงมาจะเป็นผู้ติดกัญชา กระท่อม ฝิ่น และเฮโรอีน ระบุการทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จริงใจ ของภาครัฐและภาคประชาสังคม
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั่วประเทศในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ระหว่าง 2 - 3 แสนราย แม้จะมีนโยบายว่าผู้เสพคือผู้ป่วย และรัฐทุ่มเทงบประมาณของชาติเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่าผู้ป่วยเพียง 45-50 % เท่านั้นที่สมัครใจหรือกึ่งสมัครใจเข้ารับการรักษา ส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 50 % เป็นผู้ป่วยที่ถูกบังคับบำบัดตามคำสั่งศาล และมีผู้ติดยาเสพติดบางรายที่ติดรุนแรงและก่อคดีสร้างความเดือดร้อนต่อสังคม แสดงให้เห็นว่าการดูแลผู้เสพผู้ติดยาเสพติดยังเป็นความท้าทายในความสำเร็จ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ผู้ติดยาเสพติดควรได้รับโอกาสในการแก้ไขพฤติกรรม หรือการเจ็บป่วยจากการใช้ยาเสพติดอย่างเหมาะสม ไม่ถูกตีตราความผิด
ที่ผ่านมาภาครัฐเองต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อใช้ในกระบวนการทางศาล และการดำเนินการเอาผิดลงโทษผู้ติดยาเสพติดมากกว่าการใช้งบประมาณเพื่อการรักษาพยาบาล ประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ ร่วมกับการศึกษาบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมา หลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จเช่น โปรตุเกส เยอรมัน จะไม่ถือว่าการติดยาเสพติดเป็นโทษทางอาญา แต่ถือเป็นการเจ็บป่วยทางความคิดและพฤติกรรม และใช้การแก้ปัญหาในเชิงสุขภาพเป็นตัวนำ
ดังนั้นนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย จะเกิดได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ครอบครัวชุมชนให้โอกาสผู้ติดยาเสพติดให้ได้อยู่ร่วมกันในสังคม ผู้รักษากฎหมาย และผู้ปฏิบัติงานมีความรู้และเจตคติที่ถูกต้อง คนเสพน้อยสามารถได้รับการแนะนำ จูงใจ ตักเตือน เฝ้าระวังให้ลด ละ เลิก ไม่สร้างผลกระทบ คนติดมาก ติดหนัก ติดรุนแรงต้องได้รับการบำบัดรักษาและดูแลต่อเนื่อง ได้รับยาทดแทน ได้รับบริการเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด เช่น การป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ โรคตับอักเสบ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไม่สร้างผลกระทบ และใช้ศักยภาพของบุคคลเพื่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า สถาบันมีบทบาทหน้าที่หลักสนับสนุนการแก้ปัญหาผู้ติดยาเสพติด โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาคอีก 6 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี โดยทำหน้าที่เป็นสถาบันเฉพาะทาง รับบำบัดรักษากลุ่มผู้ติดมาก ติดหนัก ติดรุนแรง ที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในระยะยาว
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ด้านวิชาการ การศึกษาวิจัย การพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ อบรมบุคลากรที่ทำงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขเรามีหลักสูตรการอบรมเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหน้าที่ในการกำกับดูแลมาตรฐานการรักษา และการดำเนินงานของสถานพยาบาล สถานฟื้นฟูสมรรถภาพทั่วประเทศที่มีมากกว่า 1,000 แห่ง ตลอดจนการทำงานในระดับภูมิภาคอาเซียน และองค์กรนานาชาติ ได้แก่ WHO, UNODC และ UNAIDS ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษา ดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ
- 1472 views