สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายฯ รณรงค์ “ส่งความสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า” หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ลดการซื้อเหล้าเป็นของขวัญ แทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ทำลายสุขภาพ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มคนเลิกเหล้าในโครงการตลาดสดชวนเลิกเหล้าถวายพ่อ จัดกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ส่งความสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า” ในงานมีการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ ถือป้ายคำขวัญ ขบวนแฟนซีผลกระทบจากอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม เดินจากสวนสันติภาพเคลื่อนมายัง ลานเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัสมรภูมิ และพร้อมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งความสุขปีใหม่ ไม่มีเหล้า ภายใต้แคมเปญ “ให้เหล้า = แช่ง” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551และประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มผู้ที่ให้เหล้าเป็นของขวัญลดลงทุกปี ถือเป็นการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยจากแอลกอฮอล์ ที่นอกจากจะเป็นผลกระทบต่อตนเอง โดยการดื่มแอลกอฮอล์สามารถก่อให้เกิดโรคได้มากถึง 200 โรค แล้วยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคนในครอบครัว คนรอบข้าง สังคม และชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือความรุนแรง
“ให้เหล้า = แช่ง ได้สร้างแรงกระเพื่อม ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ค่านิยมสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในยุคนี้ ไม่มีใครให้เหล้ากันแล้ว โดยจะพบว่า ผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2551 อยู่ที่ 30.5% เมื่อมีการรณรงค์ “ให้เหล้า = แช่ง” อย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2560 พบว่า ผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงเหลือเพียง 9% และหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ แต่ควรมอบสิ่งดีๆ เช่น หนังสือ ซึ่งจะเป็นของขวัญสร้างปัญญา เป็นสิ่งตรงข้ามกับน้ำเมาที่ทำลายสมอง และทำให้ผู้ให้ดูดี ฉลาดเลือกของขวัญด้วย คือดีทั้งผู้ให้ ผู้รับ เกิดค่านิยมใหม่ หรือในการจัดงานเลี้ยงไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจากข้อมูลพบว่า เทศกาลปีใหม่ทุกๆ ปี เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่า ซึ่งในเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็น การเมาสุรา ร้อยละ 36.59 รองลงมา คือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ31.31” นพ.บัณฑิต กล่าว
นางประนอม เชียงอั๋ง รองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้จัดงานเลี้ยงปีใหม่ที่ไม่มีเหล้า มาอย่างต่อเนื่องกว่า 9 ปี พนักงานทุกคนรับทราบดีว่า นโยบายของบริษัทจะไม่มีเหล้าในงานเลี้ยง แต่จะนำค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปมองเป็นของขวัญปีใหม่ให้พนักงาน แม้แรกๆ พนักงานจะไม่เข้าใจ แต่พอเห็นผลกระทบ จากโรงงานอื่นๆ ที่มีการดื่มเฉลิมฉลองจนเมาขาดสติ เกิดการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุบาดเจ็บ มีแต่เสียกับเสีย เมื่อดื่มเหล้าก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทรุดโทรม ทำงานได้ไม่เต็มที่ ขาดกำลังการผลิต หยุดบ้าง ลาป่วยบ้าง ผลที่ตามมาคือผลผลิตล่าช้า ไม่ตรงตามเวลา และไม่ได้คุณภาพ เป็นผลเสียทั้งต่อบริษัทและตัวพนักงานกระทั่งพนักงานเกิดความเข้าใจมากขึ้น ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
ขณะที่นายพิชัย ทองรุ่ง อายุ 22 ปี เจ้าหน้าที่กู้ภัยเทศบาลตำบลคลองเต็ง อำเภอเมืองตรัง ผู้ได้รับผลกระทบจากคนเมาแล้วขับ กล่าวว่า เมื่อตอนดึกวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนและเพื่อนกู้ภัยรวม 7 คน ลงไปช่วยเหลือคนขับขี่จักรยานยนต์ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเฉี่ยวชนราวสะพาน แต่กลับถูกรถกระบะชนพุ่งชน ถนนเพชรเกษมช่วงขาออกเมืองตรัง ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บสาหัส 3 ราย ตนและเพื่อนอีก 2 คนรอดมาได้ นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน สภาพคือไหปลาร้าขวาหักกระดูกสันหลังแตกและศีรษะเย็บกว่า 10 เข็ม ระบบขับถ่ายไม่ปกติ
“จากนั้นมาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องตกงานจากพนักงานรายวันมีรายได้วันละ 200-300 บาท ตกเป็นภาระของแม่ที่รับจ้างกรีดยางรายได้แค่เพียงเล็กน้อย หากวันไหนฝนตกแทบไม่มีรายได้แถมมีภาระต้องดูแลน้าสาวพิการทางสมองอีกหนึ่งคนรวมเป็นสามชีวิต ทุกสัปดาห์ผมต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตามนัด ซื้อเวชภัณฑ์พยาบาลเพิ่มเติม ทำกายภาพบำบัด ขาทั้ง 2 ข้างยังไม่มีแรงเวลาปวดปัสสาวะต้องใช้วิธีการสวนทุกครั้ง มีค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นอย่างน้อย ตั้งแต่เกิดเหตุได้รับแค่ความช่วยเหลือจากผู้บริจาคหน่วยกู้ภัยเทศบาลตำบลแบ่งมาให้จำนวน 23,000 บาท จากนั้นไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลืออีกเลย โชคดีที่พี่ๆ เครือข่ายงดเหล้า ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสร้างพลังใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตพอยืนหยัดขึ้นมาได้บ้าง ส่วนตัวอยากให้มีหน่วยงานมากำกับดูแลคนกู้ภัย ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาหากประสบเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาเมาแล้วขับส่งผลกระทบรุนแรงมากพอแล้ว ปีใหม่นี้การให้สิ่งดีๆอื่นที่ไม่ใช่เหล้าเป็นของขวัญน่าจะดีกว่า” นายพิชัย กล่าว
ด้านนางสาวชนกนาค แก้วสะเทือน แกนนำในโครงการตลาดสดชวนเลิกเหล้าถวายพ่อ ตลาดหทัยมิตร กล่าวว่า ในอดีตช่วงก่อนช่วงปีใหม่ของทุกๆปีคือช่วงเวลาที่รอคอย เงินที่เก็บไว้ได้บ้างก็จะหมดไปกับเหล้าเบียร์ เพื่อนฝูงมากมายมาร่วมฉลองกัน ถึงไหนถึงกัน ของกิน กับข้าวในบ้านหมดไม่มีเหลือ ร้องเพลงส่งเสียงดังไม่เคยสนใจว่าใครจะเดือนร้อน เหมือนว่าโลกนี้มีแต่พวกเรา และหลายครั้งที่ทะเลาะวิวาท มีเรื่องมีราวมีปากเสียงกันเอง ซึ่งเมื่อมาร่วมโครงการทำให้เริ่มตั้งหลัก คิดได้และหันหลังให้เหล้าเบียร์เป็นการถาวรจนทุกวันนี้ ปัจจุบันคนในตลาดรู้กันดีว่าไม่ต้องมาชวนตนไปกินเหล้าให้เสียเวลา และปีใหม่นี้ก็ตั้งใจจะทำเรื่องดีๆให้ครอบครัว ทำกิจกรรมที่ไม่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีความสุขได้ ไม่ใช่ความสุขแบบปลอมๆแบบเมาๆที่หาความสุขความจริงใจไม่ได้เลย ตอนนี้แม้ว่าเราไม่ร่ำรวยมากมายแต่เราก็พบความสุขในแบบของเรา แบบที่ไม่มีเหล้าเข้ามาแปดเปื้อนเลย” นางสาวชนกนาค กล่าว
- 40 views