มูลนิธิศุภนิมิตฯ เผยหลัง 15 ปี รุกสร้างเครือข่าย อสต.มีจิตอาสาเพิ่มขึ้น ช่วยงานสร้างสุขภาพชุมชน ไร้ค่าตอบแทน แนะรัฐต้องมีนโยบายหนุน สร้างความภาคภูมิใจให้คนทำงาน ทั้งส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุขประเทศ ป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมโรค พร้อมเผยขับเคลื่อนต่อผ่านสมัชชาสุขภาพ
นางสาวอรอริยา จารุชัย เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง กล่าวว่า อาสามัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เริ่มต้นมาประมาณ 15 ปีที่แล้ว โดยมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้รับโครงการจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และวัณโรคในพื้นที่ในประเทศไทยซึ่งมีคนต่างด้าวอยู่ อย่างที่จังหวัดระนองซึ่งมีคนพม่าอยู่จำนวนมาก จึงได้สร้าง อสต.จากคนในพื้นที่ขึ้นเพื่อคอยดูแลผู้ป่วยและกำกับการกินยาซึ่งต้องตรงเวลาและต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากกองทุนโลกหมดลง การทำงาน อสต.ก็จบลงไปด้วย แต่ด้วยประโยชน์ อสต.ที่เกิดขึ้น และ อสต.เองก็อยากทำงานต่อ จึงได้ทำโครงการโดยขอทุนจาก สสส.เพื่อมาสนับสนุนต่อ ทำให้เกิดเครือข่ายและการทำงาน อสต.ในพื้นที่ดำเนินมาอย่างต่อเนือง โดยปัจจุบันได้มี อสต.ร่วมทำงานกว่าร้อยคนใน 5 ตำบลในอำเภอเมือง จ.ระนอง
ทั้งนี้จากการทำงานที่ผ่านมา หากถามว่า อสต.มีความสำคัญอย่างไร มองว่าเป็นคนที่สามารถช่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ถึงได้ยาก ทั้งในด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดโรคในชุมชน ที่ไม่เพียงแต่ตั้งรับ แต่เป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการทำงานสุขภาพในเชิงรุกได้
สำหรับรูปแบบการสร้างเครือข่าย อสต.นั้น มูลนิธิศุภนิมิตฯ จะคัดเลือก อสต.ที่เน้นกลุ่มคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน โดยเน้นรูปแบบจิตอาสาเพราะเราไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมามี อสต.ส่วนหนึ่งที่ทำงานกับเรามาตั้งแต่ต้นและไม่เคลื่อนย้าย คนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลัก ซึ่งคุณสมบัติในการคัดเลือก อสต. เบื้องต้น ได้แก่ สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ มีจิตอาสาที่จะช่วยดูแลคนในชุมชน มีเวลาว่าง มีบัตรคนต่างด้าว รู้เรื่องราวในชุมชน เป็นต้น ซึ่งหลังรับสมัครแล้วก็จะมีการอบรมและลงทำงานพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเจ้าหน้าที่เป็นคนพม่าด้วยก็จะช่วยดูแลให้
“การทำงาน อสต.แม้ว่าจะไม่มีค่าตอบแทน แต่ที่ผ่านมา อสต.ต่างยินดีที่จะทำหน้าที่นี้ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ อสต.ให้เหตุผลว่าอย่างน้อย การเป็น อสต.ทำให้เขาให้ช่วยเหลือเพื่อนเขาเอง ได้ดูแลคนในชุมชน แม้มีบางคนที่เข้ามาเป็น อสต.เพราะอยากได้ค่าตอบแทนก็เป็นส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้วยใจเพื่อคนในชุมชนเขาเองจริงๆ ซึ่ง อสต.มีหลากหลายอาชีพ ทั้งที่รับจ้าง ทำงานประจำในโรงงาน และอาชีพแม่บ้าน ซึ่งการทำงานขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ว่างเพื่อเยี่ยมชุมชน”
นางสาวอรอริยา กล่าวต่อว่า หลังรับ อสต.เข้ามาใหม่ เบื้องต้นจะให้เขียนเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ประมวลเวลาว่างที่ตรงกัน เพื่อที่เราได้จะได้มีการประชุมและจัดทำแผนการดำเนินงาน กิจกรรมต่างๆ ในชุมชน โดยจะมีการประชุมทุกเดือน ซึ่งในการติดตามการทำงานของ อสต.จะมีสมุดกิจกรรมให้ เพื่อให้เขาบันทึกและเรานำมาประมวลผลในภายหลัง
สำหรับในการทำงาน อสต. ที่ผ่านมาด้วยการทำงานเป็นโครงการ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ อสต.เหล่านี้ยังคงอยู่และทำงานต่อในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าน่าจะมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบสาธารณสุขไทยได้ จึงมองถึงการทำงานอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คอยดูแลอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเชื่อม อสต.เข้าได้ ที่ผ่านมาจึงได้มีการเชื่อมต่อการทำงาน อสต.และ อสม.เข้าด้วยกัน เรียกว่าเป็นบัดดี้กันเพื่อร่วมกันทำงานและทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ โดยเราใช้รูปแบบสาธารณสุขมูลฐานในการทำงาน และให้มีการตั้งคณะกรรมการศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไทย-เมียนมาร์ที่ประกอบด้วย อสม.และ อสต. ทำงานด้วยกัน ทั้งการลงพื้นที่และการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ด้านสุขภาพ
“จุดเริ่มต้นแนวคิดนี้ มีครั้งหนึ่งที่ จ.ระบาดเกิดอหิวาตกโรคระบาด โดยในพื้นที่คนพม่า อสม.เองก็เข้าไม่ถึง เพราะด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงความไว้ใจกัน ดังนั้น รพ.สต.ในพื้นที่จึงได้หารือร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งทำงานกับคนพม่าอยู่แล้วเพื่อช่วยกันควบคุมการแพ่ระบาด จากนั้นจึงได้มีการเชื่อมต่อการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน อสต.ได้รับการยอมรับทั้งจากคนในชุมชน อสม. รพ.สต. และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำงาน อสต.จะเป็นที่ยอมรับ แต่ในด้านนโยบายยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ส่งผลให้การสนับสนุนทำงานของ อสต.ยังไม่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดอบรม การทำงานกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ อสต. เป็นต้น ซึ่งอยากให้มีการเชื่อมโยงเครือข่าย อสต.นี้ไว้ ไม่ใช่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดค่อยมาประสานและขอความร่วมมือ ทั้งเป็นเพื่อเป็นการให้คุณค่าและความสำคัญกับ อสต. เพื่อให้ อสต.มีตัวตนและมีความภาคภูมิใจกับการทำงานนี้ เพราะคนเหล่านี้ทำงานไม่มีค่าตอบแทน
นางสาวอรอริยา กล่าวว่า จากการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตรฯ ได้ขยายเครือข่ายการทำงาน อสต.และ อสม.เพิ่มขั้น รวมถึงการทำงานในชุมชนกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานเป็นทิศทางเดียวกัน ซึ่งจากการนำร่องการทำงานควบคู่ อสต.และ อสม.ดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เรายังได้ผลักดันนำ อสต.เข้าขับเคลื่อนผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพ ภายใต้การขับเคลื่อนในประเด็นแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และในวันนี้หลังจากที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ทำงานร่วมกับ อสต.มา 15 ปี บอกได้ว่า อสต.ขณะนี้มีความเป็นจิตอาสามากขึ้น คนพม่าเองก็เข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นจากการประสานเครือข่าย และหากเกิดสถานการณ์โรคระบาดและอนามัยสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าเครือ อสต.สามารถช่วยได้ แต่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ เพื่อทำให้เขาได้รับการยอมรับและทำงานในชุมชนอย่างภาคภูมิใจ
- 33 views