ความสำคัญของการพยาบาล และบุคลากรในด้านการพยาบาลมีมาอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีต การพยาบาลไทยนั้น กล่าวได้ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2439 โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความทุกข์ทรมานและการเสียชีวิตในการคลอดของสตรี ในสมัยก่อนสำหรับผู้หญิงเรียกได้ว่าการคลอดลูกเหมือนการออกศึก ในยุคนั้นใช้หมอตำแยซึ่งไม่ค่อยมีความรู้ในการทำคลอด และพระองค์ก็ได้ทรงประสบกับพระองค์เองด้วย
ต่อมาเมื่อประเทศเปิดรับการแพทย์แผนตะวันตกมากขึ้น มีมิชชันนารีเข้ามามากแต่มักจะเป็นหมอสอนศาสนาที่มีแต่ผู้ชายทั้งหมด ซึ่งในสมัยก่อนสตรีรักนวลสงวนตัวมากโดยเฉพาะหญิงชาววัง ทำให้ไม่สามารถรักษากับหมอผู้ชายได้ พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความยากลำบากนี้จึงได้ก่อตั้ง “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล” ขึ้นมา เพื่อให้สตรีเป็นแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีความรู้ในการทำคลอดสตรีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
แม้ในยุคแรกโรงเรียนแห่งนี้เน้นการเรียนการสอนด้านการผดุงครรภ์ แต่ผู้ที่มาเรียนก็ต้องเรียนการพยาบาลด้วย เนื่องจากต้องดูแลพยาบาลคนไข้และคนที่มาคลอด จนกระทั่งในยุคที่มีการพัฒนาสูงสุดคือยุคของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ที่พระองค์ท่านไปศึกษาต่างประเทศ และกลับมาพัฒนาการแพทย์ให้เจริญรุ่งเรือง อีกทั้งพระองค์ยังมีสายพระเนตรยาวไกล หากการแพทย์เจริญเพียงอย่างเดียวการพยาบาลไม่เจริญก็ไม่ได้เพราะต้องทำงานควบคู่กันจึงได้พัฒนาการพยาบาลด้วย พระองค์ทรงพัฒนาทั้งหลักสูตรทั้งสถานที่ โดยเฉพาะทุนร็อกกี้ เฟลเลอร์ พระองค์ท่านให้พยาบาลชาวอเมริกันมาปรับปรุงหลักสูตรการพยาบาลของไทยให้เป็นมาตรฐานเทียบเท่าสากล มีห้องแล็ปในการเรียนซึ่งถือเป็นการพัฒนาทั้งการพยาบาลและการผดุงครรภ์ควบคู่กันไป
การแต่งกายของนักเรียนพยาบาลในอดีต
ในยุคแรกนั้นการแต่งกายของนักเรียนพยาบาลศิริราชจะนุ่งโจงกระเบน และเสื้อแขนยาวประมาณศอก สีขาว รองเท้าแตะ นักเรียนปี 2 จะมีเอี๊ยมสี ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนพยาบาลจำเป็นต้องส่งพยาบาลออกไปช่วยตามพื้นที่ต่างๆ แต่ชุดพยาบาลในสมัยนั้นไม่มีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นพยาบาล สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการราชแพทยาลัย จึงได้ออกแบบเครื่องแบบพยาบาลชุดแรกเป็นชุดกระโปรงยาวประมาณคลุมเข่า สีขาวทั้งตัว มีหมวก เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2460 จากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบเครื่องแบบพยาบาลศิริราชเรื่อยมา แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งชุดและหมวกสีขาวจนปัจจุบัน
"พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย"
รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ขณะที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุทางการพยาบาล เพื่อเป็นการสืบสานประวัติของวิชาชีพการพยาบาลและสิ่งของที่มีคุณค่ายิ่งในวิชาชีพการพยาบาลซึ่งนับวันจะสูญหายไปหรือเลือนหายไป ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2530 รศ.ดร.ทัศนา จึงได้ริเริ่มที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย เพื่อเป็นเกียรติแก่ อาจารย์คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท อาจารย์พยาบาลไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งมีคุณูปการต่อโรงเรียนแห่งนี้และวิชาชีพการพยาบาล
ในพิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย จัดแสดงความรู้วิวัฒนาการพยาบาลไทย ซึ่งประกอบด้วย วิวัฒนาการเครื่องแบบพยาบาล กล่าวคือ การแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ พ.ศ. 2439 จะนุ่งโจงกระเบน และเสื้อแขนยาวประมาณศอก สีขาว รองเท้าแตะ นักเรียนปี 2 จะมีเอี๊ยมสีขาว ซึ่งได้จัดแสดงอยู่ในส่วนแรกของพิพิธภัณฑ์ และชุดเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรที่นุ่งโจงกระเบน เสื้อแขนยาว คาดผ้าแถบ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงเครื่องแบบของพยาบาลยุคแรกในหน่วยงานต่างๆ เช่น ชุดเครื่องแบบออกอนามัย ชุดพยาบาลของวชิระพยาบาล เครื่องแบบของกองทัพ ทั้งกองทัพบท กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกรมตำรวจ เครื่องแบบของสภากาชาดไทย เครื่องแบบของพยาบาลแมคคอร์มิค ปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ ม.พายัพ จ.เชียงใหม่
ในส่วนถัดจากการจัดแสดงเครื่องแบบพยาบาลตั้งแต่เริ่มจนปัจจุบัน เป็นส่วนของการจำลองการทำคลอดในอดีตของหมอตำแยกับการทำคลอดโดยแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงการอยู่ไฟ และกระเป๋าทำคลองที่แตกต่างกัน
ต่อมาเป็นการจัดแสดงภาพในอดีต และคำพูดต่างๆที่มีความสำคัญต่อการพยาบาล ภาพหอผู้ป่วยในอดีต ภาพตึกในสมัยก่อนที่คณะพยาบาลเคยอยู่ โดยสมเด็จพระราชบิดาซื้อที่ดินของโรงเรียนกุลสตรีวังหลังให้มาเป็นที่ดินของคณะพยาบาลในปัจจุบัน ภาพของอาจารย์ในยุคแรกๆ และบุคคลสำคัญของวิชาชีพพยาบาล รวมถึงเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับการพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมี “ห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท” ซึ่งคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภทนั้นเป็นผู้อำนวยการคนไทยคนแรกที่เข้ามาบริหารโรงเรียนพยาบาลหลังมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์กลับไป และท่านยังได้ปรับปรุงหลักสูตรการพยาบาลให้เป็นวิทยาศาสตรบัณฑิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย ซึ่งภายในห้องคุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นส่วนของ “เอกสารและจดหมายเหตุ” ซึ่งได้รวบรวมเอกสารและจดหมายเหตุต่างๆตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ทะเบียนประวัติของนักเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และพยาบาลรุ่นต่างๆ
ในส่วนต่อมาจัดแสดงเครื่องหมาย เข็ม กระดุม และเหรียญตราสัญลักษณ์ต่างๆ ของบุคคลสำคัญเกี่ยวกับการพยาบาลในอดีต
และในส่วนสุดท้ายจัดแสดง “อุปกรณ์การแพทย์สมัยเก่า” แสดงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต เช่น เก้าอี้คนไข้แบบโบราณปรับเอนนอนได้ เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ โถปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยหญิง โกร่งบดเม็ดยา เครื่องมือถ่างช่องคลอดวงเวียนวัดเชิงกราน ท่อสวนปัสสาวะของสตรี ครีมตรวจปากมดลูก ขนไก่ที่ใช้พันเสมหะในผู้ป่วยที่เจาะคอ ชุดให้น้ำเกลือ ห่วงอนามัยคุมกำเนิด เครื่องมือทำคลอดโลหะ ถาดอุปกรณ์ฉีดยา เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารพระศรีพัชรินทร คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล (โรงพยาบาลศิริราช)
เก็บความจาก
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.พิพิธภัณฑ์ประวัติการพยาบาลไทย.
- 20129 views