นักวิชาการชี้ ระบบประกันสุขภาพไทยครอบคลุม แต่กังวลอนาคต ผู้ประกันตน-ข้าราชการ ไหลมาซบบัตรทอง ระบุ 3 กองทุนต้องวางแนวทางส่งเสริมสุขภาพป้องกัน ‘ระเบิดเวลา’ รัฐต้องออกมาตรการจูงใจให้คนรับผิดชอบสุขภาพตัวเอง
ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์
ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงธีมรณรงค์ในวันหลักประกันสุขภาพโลก 2017 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยใช้เงินภาษีในการสนับสนุนการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ประมาณ 48 ล้านคน ขณะที่เป็นข้าราชการและครอบครัวราวๆ 6-8 ล้านคน และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ประมาณ 11-12 ล้านคน ซึ่งหากพิจารณาโดยรวมแล้วประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพครบครอบคลุมคนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในอนาคตที่คนพูดถึงว่ากำลังจะเกิดขึ้นนั่นก็คือในส่วนของประกันสังคมนั้นคนจะน้อยลง และจะเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้ภาษีประชาชนมาดูแลมากขึ้นเรื่อยๆ
“โดยหลักการแล้วทุกรัฐบาลต้องทำให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะได้เข้าถึงระบบบริการที่เข้มแข็งและไม่ล้มละลายทางการเงิน แต่ในทางปฏิบัตินั้นผมมองว่าน่าจะมีการพัฒนาไปสู่จุดที่มีโอกาสทางเลือกให้กับคนที่มีทางเลือกให้เขาได้มีโอกาสเลือก” ผศ.นพ.ภูดิท กล่าว
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาจะพบว่าในผู้ที่ใช้บัตรทอง 48 ล้านคนนั้น บางพวกมีแรง บางพวกไม่มีแรง แรงในที่นี้หมายถึงกำลังทรัพย์ ซึ่งก็น่าจะเปิดโอกาสให้กลุ่มที่มีกำลังทรัพย์มีโอกาสเลือก และมีโอกาสในการรับผิดชอบร่วมด้วย
นอกจากนี้ ทั้ง 3 กองทุนที่ทำงานอยู่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะกำลังทำอยู่แต่อาจยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม คือ 3 กองทุนนี้ต้องมีแผนงานบริหารร่วมกัน เพราะในที่สุดคนที่ออกจากระบบหนึ่ง คือคนที่เกษียณอายุจากระบบประกันสังคมหรือข้าราชการ ส่วนหนึ่งจะต้องมาใช้ระบบบัตรทอง ฉะนั้นควรมีการวางแผนร่วมกันในการสร้างแรงจูงใจว่าจะทำยังไงให้คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพมีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของตัวเองในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันว่าในวันที่เขาเปลี่ยนผ่านเข้ามาสู่ในอีกระบบหนึ่งจะไม่ไปใช้บริการโดยไม่จำเป็นโดยมากเกินไป
“เมื่ออายุมากขึ้นยังไงก็ต้องป่วย เปรียบเหมือนระเบิดเวลาของบัตรทอง” ผศ.นพ.ภูดิท กล่าว และว่า ส่วนตัวคิดว่าจากสถานการณ์ในประเทศไทยคงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบรวมกองทุนกัน ทั้งๆ ที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วบอกว่าการบริหารกองทุนเดียวจะมีความง่ายกว่า แต่คิดว่าประเทศไทยคงไปถึงจุดนั้นได้ยาก ดังนั้นหากจะทำก็ควรมาวางแผนร่วมกันแล้วมากำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันว่ากลุ่มไหนควรจะดูแลอย่างไร กลุ่มไหนควรใช้เงินอย่างไร ด้านไหน ปริมาณเท่าไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้คนพูดกันว่าถ้าเอาเงินจากกองทุนบัตรทองไปดูแลส่งเสริมป้องกันโรคทั้งหมดถามว่าเป็นธรรมไหม เพราะหลักการแล้วคนในบัตรทองคือคนที่รัฐต้องดูแลจากภาษีของประชาชน ได้แก่ เด็ก คนชรา คนจน ในขณะที่ข้าราชการและประกันสังคมเป็นคนที่มีแรง มีรายได้ แล้วเอาเงินตรงนั้นไปเสียภาษี แล้วเอาภาษีตรงนั้นไปป้อนให้กับกลุ่มบัตรทอง ฉะนั้นก็จะมีคนบางคนจะมองว่าคงไม่แฟร์ถ้าจะเอาเงินของคนจน คือบัตรทอง ไปช่วยดูแลคนรวย
“ผมเห็นด้วยบางส่วนว่าถ้าหากบริหารจัดการดีๆ จะทำให้เกิดความเป็นธรรม และทำให้วางแผนบริการที่ดีขึ้นได้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ในที่สุดแล้วถ้าอิงแต่ภาครัฐอย่างเดียวคงเป็นระเบิดเวลาแน่นอน แต่เราจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีแรง เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาไม่เป็นภาระต่อสังคม แต่ต้องมีกลไกที่จะบอกเขาว่าหากคุณไม่ใช้เงินก้อนส่วนรวมนี้ แล้วคุณดูแลตัวเอง รัฐบาลจะต้องมีมาตรการที่เขามั่นใจว่า ถ้าเขาออกของตัวเองแล้วเขาจะได้รับสิ่งที่ดีกว่า ที่สำคัญก็คือต้องมีกลไกควบคุมสถานบริการไม่ให้ตีหัวเขาด้วย” ผศ.นพ.ภูดิท กล่าว
- 29 views