ก่อนหน้านี้มีข่าวร้อน เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ช็อกโกแลตปนเปื้อนของตะกั่วและแคดเมียมจำนวน 8 ตัวอย่าง และพบช็อกโกแลตปนเปื้อนแคดเมียม จำนวน 10 ตัวอย่าง แม้ว่าปริมาณที่พบจะไม่เกินมาตรฐาน แต่ผู้บริโภคก็ควรจะระวัง ควรเลือกรับประทานอาหารจำพวก ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ปลอดสารพิษ จะสามารถลดความเป็นพิษของตะกั่วและแคดเมียมได้
อันตรายจากตะกั่วและแคดเมียม
ตะกั่วและแคดเมียม เป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น อากาศ น้ำ ดิน รวมทั้ง อาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในมนุษย์และสัตว์ ความเป็นพิษของแคดเมียมเกี่ยวข้องกับปอด ไต ตับ กระดูก ระบบสืบพันธุ์ หลอดเลือดหัวใจ และถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนการได้รับสารตะกั่วจะส่งผลต่อความผิดปกติของระบบประสาท ระบบเลือด ไต ตับ รวมทั้งความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก จะมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการดูดซึมตะกั่วในลำไส้มากกว่าในผู้ใหญ่ และระบบประสาทยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
การปนเปื้อนตะกั่วและแคดเมียมในประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาพบในหลายกรณี ดังตัวอย่าง
กรณีหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่มีปัญหาพิษตะกั่วจากเหมืองตะกั่วและโรงแต่งแร่ตะกั่วที่ตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2510 ต่อมาในปี พ.ศ.2542 กรมควบคุมมลพิษตรวจพบปริมาณตะกั่ว ในตะกอนท้องน้ำมีค่าตะกั่วสูงกว่ามาตรฐานมากถึง 28,000 เท่า และจากการตรวจสอบเลือดประชาชน 177 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในระหว่างปี พ.ศ.2542 – 2544 พบว่า 142 คน มีค่าตะกั่วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั่วไป
กรณีลุ่มน้ำตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม ในปี พ.ศ. 2547 สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติของสหภาพยุโรป ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในดิน ที่เป็นพื้นที่ทำนาข้าว รวมทั้งในเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นการปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ผลการวิเคราะห์ผักสดที่จำหน่ายในตลาดสดเทศบาล 9 จังหวัด ในภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานีและตาก ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2557 พบว่า ผักตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 80 มีการปนเปื้อนของตะกั่ว และแคดเมียม ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยผักตัวอย่างที่ศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ แครอท หัวไชเท้า หัวหอม ผักบุ้ง ต้นหอม คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ แตงกวา ผักชีฝรั่ง ข้าวโพดอ่อนและถั่วฝักยาว (http://bit.ly/2yLx70q)
แต่ความจริงที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ ยังมีสารพิษอันตรายสูงอื่นๆปนเปื้อนในผักผลไม้ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอีกมากมาย แม้กระทั่งในผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากรับรองว่าปลอดสารพิษ (www.thaipan.org)
เมื่อมีสถานการณ์อันตรายเช่นนี้ ผู้บริโภคควรจะต้องทำอย่างไร
คาดการณ์ว่าสถานการณ์อาหารปนเปื้อนสารพิษในปัจจุบันน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากนัก จะเห็นได้จากการที่มีบางกลุ่มในสังคมออกมายืนยันว่าประเทศไทยยังต้องใช้สารพิษในการผลิตอาหาร แม้ว่าหลายประเทศในโลกต่างยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายไปแล้ว
แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะทำอย่างไร เพราะต้องกินอาหารทุกวัน
สิ่งที่พอจะบรรเทาปัญหาและลดความเสี่ยงลงได้บ้าง คือ ต้องเลือกบริโภคอาหารที่มั่นใจว่าปลอดสารพิษ จากข้อมูลจากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า การรับประทานผักผลไม้ ที่สะอาด ปลอดสารพิษ เช่น ผักใบเขียว มะนาว มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล ธัญพืช เบอร์รี่ พืชผลเหล่านี้เป็นแหล่งวิตามินซี วิตามินบี และวิตามินอีที่ดีต่อสุขภาพ มีสรรพคุณป้องกันโรคหลายโรค และมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาหรือป้องกันความเป็นพิษของตะกั่วและแคดเมียมได้ (http://bit.ly/2ysIX3w)
ผู้บริโภคต้องช่วยกันสนับสนุนตลาดสีเขียว (Green Market) และผู้ผลิตอาหารที่ยืนหยัดผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษ และหยุดสนับสนุนผู้ผลิตอาหารที่ยืนยันว่าต้องใช้สารพิษในการผลิตอาหาร
ผู้เขียน : รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- 1389 views