ระบบสิทธิบัตรอาจกลายเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ รวมทั้งอาจจำกัดการเข้าถึงของประชาชน หากกระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรไม่มีคุณภาพ ย่อมส่งผลให้มีการให้สิทธิบัตรผูกขาดที่ไม่สมควร ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ในราคาที่แพงจนเอื้อมไม่ถึง
ที่ผ่านมาระบบสิทธิบัตรยาของไทยเผชิญปัญหากับการขอรับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาที่แม้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถได้สิทธิขยายระยะเวลาผูกขาดตลาดยาของผู้ทรงสิทธิออกไป ส่งผลให้เกิดการกีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด จำกัดโอกาสการเข้าถึงยาของประชาชน จำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์
ผลวิจัยสรุปการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้านเภสัชภัณฑ์ที่ได้ประกาศโฆษณาแล้วในช่วงเวลา 11 ปี นับจาก ปี พ.ศ. 2543 ถึง 2553 จำนวน 2,188 คำขอ พบว่าร้อยละ 84 มีข้อถือสิทธิหลักเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยหรือที่เรียกว่า evergreening patent
เมื่อพิจารณาลักษณะคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ประกาศโฆษณาแล้ว ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2559 รวม 11 ฉบับ พบประเด็นสำคัญดังนี้
ผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย ทั้ง 11 ฉบับ ไม่ใช่สัญชาติไทย
คำขอรับสิทธิบัตร 9 ฉบับ จาก 11 ฉบับไม่ควรจะได้รับการประกาศโฆษณา เป็นคําขอรับสิทธิบัตรที่มีการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้ตามมาตรา 9(1) เนื่องจากเป็นสารสกัดจากกัญชา
คำขอรับสิทธิบัตร 4 ฉบับ จาก 11 ฉบับน่าจะเป็นคำขอรับสิทธิบัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร เนื่องจากเป็นข้อถือสิทธิในวิธีการรักษาของยา (method of treatment) ตามมาตรา 9(4) หรือ เป็นเพียงการทำให้สารที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วนั้นมีความบริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น
สถานะของคำขอรับสิทธิบัตร จำนวน 6 ฉบับยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ จำนวน 3 ฉบับยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ และละทิ้งคำขอจำนวน 2 ฉบับ
เมื่อพิจารณาในข้อกฎหมายสิทธิบัตร รวมถึงกฎระเบียบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าคำขอรับสิทธิบัตรในสารสกัดจากกัญชาทั้ง 11 ฉบับนั้น ขัดต่อมาตรา 9 ซึ่งเป็นขั้นตอนการคัดกรองคำขอที่ไม่อนุมัติสิทธิบัตรในประเทศไทยในเบื้องต้น จึงไม่สมควรเข้าสู่กระบวนการประกาศโฆษณาและการตรวจสอบรายละเอียดการประดิษฐ์
การปล่อยให้คำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเช่นในปัจจุบัน จึงเป็นข้อบกพร่องและเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง และเป็นบกพร่องที่ขัดขวางการวิจัยและพัฒนายาจากกัญชาของนักวิจัยไทย ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รอคอยที่จะใช้ยาจากกัญชาเพื่อการบำบัดรักษาโรค
กรณีกัญชาจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนถึงความท้าทายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการพัฒนาระบบการตรวจสอบสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อรักษาประโยชน์ให้แก่สาธารณะโดยรวม
ผู้เขียน : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
- 45 views