หากกล่าวถึงกลุ่มชายขอบด้านสุขภาพในประเทศไทย กลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างมากไม่แพ้กลุ่มชายของอื่นๆ หรืออาจจะได้รับการดูแลจากรัฐน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียอีก
นางสำราญ สุเป็ง
นางสำราญ สุเป็ง ชาวบ้านชุมชนพูนทรัพย์ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กทม. อายุ 48 ปี เป็นหนึ่งในคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ส่งผลให้ไม่มีสิทธิได้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
สำราญ เล่าว่า พื้นเพเดิมของเธอเป็นชาว จ.สุรินทร์ แม่เธอทำคลอดกับหมอตำแยในหมู่บ้านและไปแจ้งเกิดกับผู้ใหญ่บ้าน แต่ในสมัยก่อน จ.สุรินทร์มีโจรผู้ร้ายเยอะ ผู้ใหญ่บ้านยังไม่ทันจะทำเรื่องแจ้งเกิดไปยังอำเภอก็มาถูกโจรฆ่าตายเสียก่อน และหลังจากผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต พ่อของเธอก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้เพราะพ่อมีความผิดติดตัวฐานหลบหนีทหาร เกรงว่าไปอำเภอแล้วจะถูกจับ
ต่อมา พ่อแม่ของสำราญย้ายภูมิลำเนามาอยู่ใน กทม.ตอนเธออายุ 9 ขวบและปักหลักอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เธอเล่าว่าตั้งแต่เล็กจนโต เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไปรับบริการที่คลินิกบ้าง ที่โรงพยาบาลบ้างและจ่ายค่ารักษาไปตามปกติเนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น
จนกระทั่งเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา เธอในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ต้องการสิทธิบัตรทองเหมือนคนอื่นๆแต่กลับไม่ได้รับสิทธินั้น เพราะแม้กฎหมายจะบอกว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ แต่คนไทยตามกฎหมายนี้ถูกตีความว่าคือคนที่มีสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น
และเนื่องจากเธอไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาจึงต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด ประกอบกับฐานะที่ยากจน ทำให้เธอเลี่ยงที่จะไปโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา โดยเธอเลือกที่จะเข้ารับบริการที่คลินิกใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานแทน ปัจจุบันเธอมีรายได้วันละ 250 บาทแต่หากเข้ารับบริการในคลินิกจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 400-500 บาท ซึ่งหมายถึงรายได้จากการทำงาน 2 วันเลยทีเดียว
“หนูยังไม่เคยป่วยหนักๆ จนต้องเข้าโรงพยาบาลเลย ยกเว้นตอนคลอดลูกจะไปคลอดที่โรงพยาบาลเพราะค่ารักษาไม่แพงมาก เรายังพอที่จะจ่ายได้ สมมุติค่าทำคลอด 3,000 บาท เราก็ยังไม่สามารถที่จะจ่ายให้ครบได้ อาจจะจ่าย 2,000 บาท ส่วนที่เหลือก็ทำเรื่องค้างชำระไว้เพราะเราจ่ายไม่ไหวจริงๆ จะทำเรื่องขอเป็นคนไข้อนาถาก็ยังทำไม่ได้เลยเพราะไม่มีบัตรประชาชน โรงพยาบาลก็เดินเรื่องให้ไม่ได้ ส่วนลูกเมื่อคลอดแล้วก็เอาชื่อเข้าไปไว้ในทะเบียนบ้านแฟน ลูกถึงได้มีบัตรประชาชนกันทุกคน” สำราญ กล่าว
แม้ปัจจุบันสำราญจะไม่เคยป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง แต่เธอก็ยังกังวลถึงอนาคตเพราะอายุเพิ่มมากขึ้น เริ่มสังเกตเห็นถึงความเสื่อมถอยของร่างกาย มีการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บ่อยครั้งมากขึ้น ดังนั้นเวลารู้สึกไม่ค่อยสบายขึ้นมาก็จะรีบไปซื้อยามาทานเองหรือไปหาหมอตามคลินิก จะไม่ยอมปล่อยให้อาการลุกลามเพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีสิทธิบัตรทอง หากป่วยเป็นอะไรขึ้นมากลัวว่าสร้างความลำบากให้ลูกในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ
“ตอนนี้อายุ 48 ร่างกายก็เริ่มแสดงอาการ เดี๋ยวเป็นโน่นเดี๋ยวเป็นนี่ ถึงได้อยากทำบัตรประชาชนเพื่อจะได้มีสิทธิรักษาพยาบาลบ้าง ลูกจะได้ไม่ลำบาก ทุกวันนี้เวลาตรวจร่างกายที่อนามัยหมอก็บอกว่าเป็นปกติดี แต่อนาคตภายหน้าเราก็ไม่มั่นใจเพราะเราอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ก็เป็นห่วงตรงจุดนี้ กลัวไปหมดทุกโรค กลัวต้องไปนอนโรงพยาบาล กลัวมีค่าใช้จ่าย บางทีก็ท้อและน้อยใจนะว่าทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น” สำราญ กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2559 สำราญได้ไปยื่นขอทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตสายไหม และอยู่ระหว่างรวบรวมเงินเพื่อตรวจ DNA พิสูจน์ความสัมพันธ์กับลูก รวมทั้งดำเนินการให้ญาติของแม่ช่วยเป็นพยานบุคคลรับรองว่าเธอเป็นคนไทยที่ไม่ได้แจ้งเกิด และเธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในเร็ววันนี้จะมีบัตรประชาชนและมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพได้เสียที
นอกจากสำราญแล้ว น้องชายของเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่มีบัตรประชาชนเพราะพ่อไม่ได้แจ้งเกิดให้เช่นเดียวกัน
น้องชายของเธอชื่อนายสำรวย สุเป็ง เสียชีวิตไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 จากโรคตับแข็ง ซึ่งก่อนเสียชีวิตต้องเข้าโรงพยาบาล 3 รอบ เธอเล่าว่าครั้งแรกที่ไปรับบริการ โรงพยาบาลก็ให้การดูแลดี แต่เมื่อต้องกลับเข้าไปรับการรักษาเป็นครั้งที่ 2 โรงพยาบาลก็เริ่มไม่สนใจ ไม่ค่อยให้ยาเพราะทราบจากประวัติในครั้งแรกแล้วว่าไม่มีบัตรประชาชน และอาจมองว่าไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาก็เป็นได้
จนกระทั่งเข้ารับการรักษาครั้งที่ 3 ตอนที่น้องชายออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ได้รับยากลับมากินแม้แต่เม็ดเดียว ผ่านไปไม่นานอาการก็หนักขึ้นจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 4 และเสียชีวิตในที่สุด
“ค่ารักษาทั้งหมดประมาณ 40,000 บาทก็ไม่มีจ่าย ต้องทำเรื่องค้างชำระ ตอนแรกเขาจะไม่ให้เอาศพออกจากโรงพยาบาลเพราะยังเคลียร์เงินกันไม่หมด ต้องเอารองประธานชุมชนไปขอร้อง ไปรับรองว่าครอบครัวหนูยากจนจริงๆ เขาถึงยอมให้เอาศพออกมาทำพิธี หรือตอนที่น้องยังไม่เสียชีวิต เวลาเขาต้องนอนโรงพยาบาลหนูก็ไม่กล้าไปเยี่ยม ไม่ค่อยได้ไปดูแล เพราะโรงพยาบาลจะถามหาญาติ ถามหาบัตรประชาชนและให้ทยอยจ่ายค่ายา ซึ่งถ้าเราไปเยี่ยมน้อง เขาก็จะให้จ่ายเงินค่ายาแล้วเราก็ไม่มีเงินให้ ตรงนี้ก็เข้าใจโรงพยาบาลเพราะเราไม่มีบัตรเขาทำเรื่องเป็นคนไข้อนาถาให้ไม่ได้ แต่มันก็สุดวิสัยที่เราจะหาเงินมาจ่ายได้จริงๆ” สำราญ กล่าว
น.ส.วิมล ถวิลพงษ์
ด้าน น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนพูนทรัพย์ กล่าวว่า ในชุมชนพูนทรัพย์มีคนที่ไม่มีบัตรประชาชน 5 คน แต่เสียชีวิตไปแล้ว 3 คน เหลือที่ยังมีชีวิต 2 คน ซึ่งทุกคนก็จะมีปัญหาเหมือนกันหมดคือเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด และส่วนใหญ่ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจ่าย
วิมล กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์การทำงานในเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่ากลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเพราะคนสมัยก่อนมีตรรกะแปลกๆ ว่าไปแจ้งเกิดทำไม เดี๋ยวโตมาก็แต่งงานไปอยู่กับสามี หรือบางคนก็หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็กเลยไม่ได้ไปทำบัตร
รองประธานชุมชนพูนทรัพย์ กล่าวต่อไปว่า ตอนที่มีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น กฎหมายเขียนว่าคนไทยต้องได้รับการบริการการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนไทยเพียงแต่ไม่มีบัตรประชาชน แต่เวลาตีความกฎหมายกลับให้สิทธิเพียงแค่คนที่มีเลข 13 หลัก ส่วนคนที่รอพิสูจน์สถานะกลับไม่ได้สิทธิ ซึ่งปกติแล้วกลุ่มคนไร้บ้านถือเป็นคนจนที่สุด แต่กลุ่มที่แย่กว่าคือคนไม่มีบัตรประชาชน เพราะเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลหรือสิทธิใดๆ เลย คนกลุ่มนี้น่าจะได้รับการดูแลจากรัฐ เข้ามาพิสูจน์สถานะ สืบค้นเครือญาติ แล้วออกใบรับรองให้มีสถานะในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะขนาดคนต่างชาติเมื่อมาอยู่ในไทยยังได้รับการดูแลอย่างดี สามารถบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้ เข้าประกันสังคมได้ แต่กับกลุ่มคนไทยที่พ่อแม่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้กลับมีสิทธิน้อยกว่าแรงงานต่างด้าวเสียอีก
“ปัญหาแบบนี้มีมานานแต่ไม่เห็นว่าจะมีหน่วยงานไหนที่สนใจ รัฐควรดูแลไม่ใช่มองเขาเป็นคนต่างด้าว เวลาไปโรงพยาบาลไม่มีบัตรก็มองเป็นคนต่างด้าวหมด จริงอยู่ที่รัฐอาจมองในมุมว่าจะมีคนต่างด้าวมาสวมสิทธิเป็นคนไทย แต่มันควรมีการพิสูจน์กันว่าเขาเกิดจากไหน ไม่ใช่ว่าเห็นคนไม่มีบัตรก็มองเป็นคนต่างด้าวแล้วไม่สนใจไม่ดูแล อย่างเมื่อก่อนมีคนในชุมชนอีกคนที่เสียชีวิตไปแล้วก็พยายามทำบัตรประชาชน ไปสืบค้นเครือญาติที่ต่างจังหวัด ญาติก็รับรองหมดแล้ว แต่เขตไม่ยอมทำบัตรประชาชนให้เพราะกลัวสวมสิทธิ คือกลัวไว้ก่อน ขนาดญาติรับรองให้แล้วแท้ๆ จะกลัวอะไรกันไปหมด”วิมล กล่าว
วิมล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาก็พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐใส่ใจเรื่องนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เยอะเพราะเป็นเพียงประชาชนคนเล็กคนน้อย และหน่วยงานที่จะดำเนินการเรื่องนี้ก็มีน้อยอีกทั้งเดินเรื่องล่าช้า ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรจะเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือโดยเฉพาะการสืบค้นหาเครือญาติเพื่อให้การรับรอง และประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพราะถ้าเป็นหน่วยงานรัฐติดต่อกันน่าจะช่วยให้เดินเรื่องได้เร็วกว่าประชาชนดำเนินการเอง
“ที่ผ่านมาก็พยายามเรียกร้องหน่วยงานรัฐต่างๆ ว่ายังมีคนกลุ่มนี้อยู่นะ มีใครที่พร้อมจะช่วย รัฐบาลก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีต่างชาติมาสวมสิทธิ ซึ่งในมุมของเราคิดว่ามันจะสวมสิทธิตรงไหน เขาเป็นคนไทยแท้ๆ คนที่ต้องให้การรับรอง ถ้ารู้ว่าคนนี้ไม่ใช่คนไทย ใครจะกล้ารับรอง หาเรื่องไปติดคุกเปล่าๆ แต่ถ้าเป็นคนไทย เป็นคนที่เรารู้จักเห็นกันมานานก็กล้ารับรองให้ได้” วิมล กล่าว
น.ส.วรรณา แก้วชาติ
ขณะที่ น.ส.วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนทั่วประเทศคาดว่าน่าจะมีประมาณ 50,000-100,000 คน โดยเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น ถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ที่วัดหรือโรงพยาบาล จึงไม่มีการแจ้งเกิด ไม่มีหลักฐานนำไปแสดงตัวตนเพื่อทำบัตรประชาชนได้ บางคนถูกครอบครัวกระทำความรุนแรงจึงหนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก หรือบางคนแม้ว่าจะมีบัตรประชาชน แต่หลังจากออกจากบ้านมานาน เร่รอนตามที่ต่างๆ ไม่มีการต่ออายุบัตรประชาชน นานวันก็ทำให้รายชื่อหลุดออกจากทะเบียนราษฎร์ไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนของกระบวนการการพิสูจน์ตนเองก็มีความยุ่งยากมาก ต้องใช้เวลานาน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่จำเป็นได้โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ยามเจ็บป่วยต้องดูแลตัวเองและเมื่อไม่มีเงิน ส่วนใหญ่จะซื้อยาชุด ยาร้านยากินเอง หรือขอยาตามหน่วยแพทย์ต่างๆ ที่ลงพื้นที่ และบางคนก็เจ็บป่วยเรื้อรัง เมื่อไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น ภาวะโรคก็จะรุนแรง บ่อยครั้งต้องเรียนหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 มารับตัวไปโรงพยาบาลและเมื่อไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอีก
น.ส.วรรณา กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ขณะเดียวกันในช่วงระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายหรือการพิสูจน์สถานะตนเอง ควรมีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์” เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา โรงพยาบาลที่รับดูแลก็สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนนี้ได้ ขณะเดียวกันยังทำให้เข้าถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การคัดกรอง และการรักษาต่อเนื่องในกรณีเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหนักจนต้องหามมารักษา โดยรัฐบาลอาจสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมหรือใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยรอพิสูจน์สถานะไปก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
“การจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์ได้นำเสนอมาหลายปีแล้ว ปัญหาคือขณะนี้ยังขาดเจ้าภาพหลักในการผลักดันจัดตั้งกองทุน ดังนั้นจึงต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและอยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็วเพราะเรื่องรักษาพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็นและรอไม่ได้” น.ส.วรรณา กล่าว
- 3647 views