มติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเห็นชอบตารางการให้วัคซีนใหม่ที่จะเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และฮีโมฟีลุส อินฟูลเอนเซ่ ทัยป์บี (DTP-HB-Hib) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี, วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap) ในหญิงตั้งครรภ์ และวัคซีนรวมหัดและหัดเยอรมัน (MR) ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเตรียมขยายคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่จากโครงการนำร่อง 4 อำเภอ 4 จังหวัด (ปี 2560) เป็น 12 จังหวัด ภายในปี 2561
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ คือ ตารางการให้วัคซีนใหม่ที่จะเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 3 ชนิด ได้แก่
1.วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และฮีโมฟีลุส อินฟูลเอนเซ่ ทัยป์บี (DTP-HB-Hib) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กำหนดให้ในเด็กอายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันในการบริหารจัดการวัคซีน ต่อไป
2.วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap) ในหญิงตั้งครรภ์ โดยกำหนดให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ 1 เข็ม อายุครรภ์ระหว่างไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 และควรให้วัคซีนอย่างน้อย 15 วันก่อนคลอด ในทุกการตั้งครรภ์ สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนที่มีองค์ประกอบของบาดทะยัก (T) ต้องให้วัคซีนรวมคอตีบและบาดทะยัก (dT)
และ 3.วัคซีนรวมหัดและหัดเยอรมัน (MR) ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งที่ประชุมได้ระบุให้รวมถึงนักศึกษากลุ่มวิชาแพทย์และสาธารณสุขด้วย โดยให้ 1 เข็ม
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาโครงการนำร่องการพัฒนาคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการให้บริการวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในปี 2560 ใน 4 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่, อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น, อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยใช้วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก (dT) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นต้นแบบ จากการติดตามการดำเนินงานในปี 2560 พบว่าในภาพรวมเจ้าหน้าที่ให้การยอมรับและสามารถดำเนินงานได้ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการมารับบริการวัคซีน และสามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อแนวทางการดำเนินงานต่อไป และในปี 2561 จะขยายพื้นที่ในการดำเนินงานเป็น 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี สระบุรี เพชรบุรี สระแก้ว ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และสงขลา
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาปรัชญาของงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ อันได้แก่ “บุคคลที่อาศัยในประเทศไทยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น มีคุณภาพ และปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา หรือเศรษฐานะ” ซึ่งเป็นการแสดงหลักการที่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ยึดถือและปฏิบัติตามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- 9 views