แถลงการณ์สภาเภสัชกรรมค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ชี้เนื้อหาก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ให้อำนาจแพทย์จ่ายยาได้ ขัดหลักการสากล กระทบประชาชนที่จะได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ใน 3 ประเด็น คือ
1.ก้าวล่วงสิทธิ์ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาระหว่างวิชาชีพแพทย์และเภสัชกร ขัดหลักการสากลที่แบ่งแยกหน้าที่กันของแต่ละวิชาชีพไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งแพทย์มีหน้าที่ตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาและสั่งใช้ยา ขณะที่เภสัชกรมีหน้าที่จัดและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย แต่ในร่างกฎหมายของแพทยสภาได้กำหนดคำว่า “บริบาลเวชกรรม” ที่ครอบคลุม การจัดจ่ายยาและการให้ยา ซึ่งขัดกันกับหลักสากล กระทบการให้บริการประชาชนตามหลักเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานของวิชาชีพ
2.การเขียนครอบคลุมเรื่อง “การเสริมสวย” ให้อยู่ในขอบเขตวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่มีการจำแนก กระทบสิทธิ์ในการประกอบอาชีพทั่วไปของประชาชนทำให้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนและจะทำให้ “การเสริมสวย” กระทำได้เฉพาะแพทย์เท่านั้น การเสริมสวยที่กระทำโดยบุคคลในร้านเสริมสวย ในปัจจุบันจะผิดกฎหมายทันที
และ 3.เขียนกฎหมายขาดความชัดเจนกระทบต่อบุคคลต่าง ๆ ในอนาคต ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภานี้ ได้เขียนนิยามวิชาชีพเวชกรรมที่หมายถึง การบริบาลเวชกรรมและ "การอื่นใด" ซึ่งเป็นข้อความกว้าง ๆ ให้อำนาจแพทยสภากำหนดอำนาจอื่นใดเพิ่มเติมก็ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจก้าวล่วงไปสู่วิชาชีพ และอาชีพอื่นที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในการแพทย์ อันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน
รายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้
ตามที่ แพทยสภาได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาเภสัชกรรมได้พิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียดร่วมกับเครือข่ายสมาคมวิชาชีพเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 แล้ว มีความเห็นและมีความกังวลต่อสาระในร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. เป็นการก้าวล่วงสิทธิ์ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ในร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นี้ บทบัญญัติที่สำคัญคือ มาตรา 3 เป็นการแก้ไขนิยามของคำว่า “วิชาชีพเวชกรรม” โดยเพิ่มคำใหม่ว่า “บริบาลเวชกรรม” และใช้มาตรา 4 มาบัญญัติขยาย “บริบาลเวชกรรม” ให้มีความหมายที่กว้างขวางกว่าเดิมมาก ทั้งนี้ ประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติระหว่างวิชาชีพด้วยกัน คือ
หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีการนิยามคำว่า “บริบาลเวชกรรม” ครอบคลุมเรื่องการจัดและจ่ายยาและการให้ยา
จะเป็นการขัดต่อหลักสากลระหว่างการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ ที่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันของแต่ละวิชาชีพอย่างชัดเจน โดยแพทย์มีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยและสั่งใช้ยา เภสัชกรมีหน้าที่จัดและจ่ายยาตามใบสั่งยา และเทคนิคการแพทย์จะดำเนินการเจาะตรวจเลือด อีกทั้งวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งเป็นการสร้างสมดุล และความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ ในการดูแลสุขภาพประชาชนและยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
ซึ่งใน เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ.2555 (Professional Standards for Medical Practitioners 2012) ข้อ 4.การบริบาลผู้ป่วย (Patient care) มีความรู้ความสามารถ ในการรวบรวมข้อมูล กำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐาน วางแผนการตรวจวินิจฉัยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ดังต่อไปนี้
4.1 การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งได้กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยา คือ เลือกใช้ยาได้อย่างสมเหตุผล ตามหลักเภสัชวิทยาคลินิก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญซึ่งมีความถูกต้องชัดเจนอยู่แล้วในหลักการดังกล่าว และจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนจากพระดำรัสของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่ได้พระราชทานแก่นักเรียนแพทย์ปรุงยารุ่นแรก ในการแยกวิชาชีพเภสัชกรรมออกจากวิชาชีพแพทย์ตามหลักสากล ดังนี้
“ผู้ที่จะออกไปมีอาชีพแพทย์นั้น จะปรุงยาขายยาด้วยไม่ได้ แพทย์มีหน้าที่เฉพาะการตรวจรักษาพยาบาลคนไข้เท่านั้น ส่วนผู้ที่สำเร็จวิชาปรุงยา ก็ออกไปประกอบวิชาชีพปรุงยาและขายยา จะไปตรวจรักษาคนไข้ไม่ได้ อาชีพทั้งสองนี้เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกัน แบ่งการรับผิดชอบตามแบบอย่างในประเทศตะวันตกเขา”
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้นั้น ต้องจบการศึกษาหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้อย่างแท้จริงตั้งแต่วัตถุดิบ แหล่งที่มาโครงสร้างทางชีวเคมี กระบวนการผลิตยา การปรุงยา การควบคุมและประกันคุณภาพ การเก็บรักษา ตลอดจนกระบวนการกระจายยาไปสู่ประชาชน ซึ่งในรายละเอียดของการศึกษา 6 ปีนั้นยังครอบคลุม การวิจัยพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่าง ๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยา สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารเสพติด สารพิษ และวัตถุหรือสารออกฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยาอย่างปลอดภัย เภสัชกรผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ จึงต้องสอบผ่านตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพเภสัชกรรม ตามที่สภาเภสัชกรรมกำหนด
2. เป็นการเขียนกฎหมายที่กระทบสิทธิ์ในการประกอบอาชีพทั่วไปของประชาชน ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏในร่างมาตรา 4 ในส่วนของคำว่า “การเสริมสวย” ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความหมายที่หลากหลายและยังไม่มีกฎหมายวิชาชีพมารองรับ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทำนองเดียวกันหากมีปรากฏในกฏหมายขึ้นมา คือจะทำให้ “การเสริมสวย” กระทำได้เฉพาะแพทย์เท่านั้น การเสริมสวยที่กระทำโดยบุคคลในร้านเสริมสวย ในปัจจุบันจะผิดกฎหมายทันที ซึ่งในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ได้เขียนให้ “การเสริมสวย” อยู่ในขอบเขตของ “การกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย และการบำรุงร่างกายด้วย”
3. เป็นการเขียนกฎหมายที่ขาดความชัดเจน ซึ่งสาระของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลต่าง ๆ ในอนาคต คือบทบัญญัติ ในร่างมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า “วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่าวิชาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ในการบริบาลเวชกรรม รวมทั้งการอื่นใดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา
คำว่า “การอื่นใด” เป็นข้อความกว้าง ๆ ที่ให้อำนาจการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยอาศัยข้อบังคับแพทยสภาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจก้าวล่วงไปสู่วิชาชีพ และอาชีพอื่นที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในการแพทย์ อันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ทำให้แพทย์ถูกฟ้องร้องเพิ่มได้ในเวลาต่อมาอีกด้วย ซึ่งการเขียนรายละเอียดของคำนิยามในพระราชบัญญัติวิชาชีพนั้น มีหลักปฏิบัติที่จะต้องเขียนให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการตีความกฎหมายในอนาคต
เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพิจารณายกร่างกฎหมาย สภาเภสัชกรรมและเครือข่ายสมาคมวิชาชีพเภสัชกรรมให้ความสนใจ ติดตาม และตระหนักต่อผลกระทบในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และไม่ต้องการให้วิชาชีพเภสัชกรรม วิชาชีพอื่น และ/หรือ อาชีพอื่นต้องถูกละเมิดสิทธิจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
สภาเภสัชกรรม และเครือข่ายสมาคมวิชาชีพเภสัชกรรม ประกอบด้วย เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชอุตสาหกรรม (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สาธารณะรับทราบและจะได้ทำการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการปรับแก้ให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลและเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อไป
ลงนามโดย
เภสัชกรนิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสินธุ์ชัย แก้วกิติชัย นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เภสัชกรอำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)
เภสัชกรหญิงศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
เภสัชกรหญิงมาลินี อุทิตานนท์ นายกสมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย)
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงณัฐนันท์ สินชัยพานิช นายกสมาคมเภสัชอุตสาหกรรม (ประเทศไทย)
พันเอกหญิง เภสัชกรหญิงอิษฎา ศิริมนตรี นายกสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
เภสัชกรสุวิทย์ ธีรกุลชน นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย)
เภสัชกรประสาท ลิ่มดุลย์ นายกสมาคมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงรุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย
12 ตุลาคม 2560
- 405 views