กรมควบคุมโรค จัดทีมจิตอาสา SAT และ JIT เฉพาะกิจ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในท้องสนามหลวง 17-30 ต.ค.นี้ พร้อมสั่งการให้ สคร.ทั่วประเทศ ร่วมดูแลสุขภาพประชาชนในแต่ละพื้นที่
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
วันนี้ (20 ตุลาคม 2560) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะมีประชาชนเดินทางมาร่วมในพระราชพิธีจำนวนมาก ทั้งในบริเวณท้องสนามหลวง และส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัด กรมควบคุมโรค จึงได้รับสมัครจิตอาสา SAT และ JIT เฉพาะกิจ โดยแบ่งเป็นทีมเฝ้าระวังสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพผู้เข้าร่วมงานฯ (SAT) และทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) เมื่อมีเหตุโรคและภัยสุขภาพ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องสนามหลวง ปฏิบัติงานที่บริเวณจุดถวายดอกไม้จันทน์โดยรอบและกรมควบคุมโรค เริ่มการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา และทำการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2560
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังได้สั่งการไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการกับกรุงเทพมหานครและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งการให้ความรู้ แจกเอกสารความรู้ และคำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนแต่ละจังหวัดเพื่อการป้องกันควบคุมโรคเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนรวมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดปล่อยรถโดยสารที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ และร่วมกับจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ดูแลสุขภาพประชาชนที่มาร่วมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค รับผิดชอบ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงงานพระราชพิธีดังกล่าว เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้มีฝนตกสลับอากาศร้อน กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนําประชาชนในการดูแลสุขภาพในกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากภายในพื้นที่จํากัด เพื่อลดการเจ็บป่วยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยโรคติดต่อที่ควรระวังในช่วงนี้ ได้แก่
1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ติดต่อได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันแออัด
2.โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ที่มากับอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด เช่น โรคอาหารเป็นพิษ
และ 3.โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกาไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอ จามรดกัน หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่หากจําเป็นต้องเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมากให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือบ่อยๆ
โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่หากป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคน 5) ผู้มีน้ำหนักตัว มากกว่า 100 กิโลกรัม 6) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 7) ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย 8) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) สำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ หากมีอาการไอ จาม ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากปิดจมูก
ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ ในช่วงกลางวันที่มีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงมีความเสี่ยงจากโรคอาหารเป็นพิษ ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม โดยเลือกรับประทานที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน รวมไปถึงต้องระวังโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ การทิ้งภาชนะบรรจุอาหารในที่ที่ปิดไม่มิดชิดในช่วงที่ยังคงมีฝนตกชุก ทำให้ภาชนะเหล่านั้นเป็นที่ขังน้ำและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ ต้องหมั่นคว่ำ เทน้ำออก ส่วนประชาชนที่เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมงาน เดินทางโดยรถยนต์ รถโดยสาร พักในที่พักชั่วคราว อาจต้องระมัดระวังการถูกยุงลายกัดในเวลากลางวันด้วย เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด อยู่ในที่โล่งโปร่ง เป็นต้น
ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 11 views