มติ ครม.เห็นชอบนำเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษี โดยเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท เชื่อรัฐไม่เสียประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์กับผู้ที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดให้ยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (61) วรรคหนึ่ง และ (94) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดิมการทำประกันภัยที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้นั้น มีอยู่ 2 ลักษณะ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท คือ ค่าเบี้ยประกันชีวิต เฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการฝากเงินที่มีข้อตกลงว่า ธนาคารผู้รับฝากจะจ่ายเงินและรับผลประโยชน์ตามข้อตกลง โดยอาศัยการทรงชีพหรือการมรณะของผู้ฝากเงิน และกำหนดระยะเวลาฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่เคยมีประกันภัยสุขภาพ จึงมีผู้เรียกร้องให้นำเรื่องดังกล่าวเข้ามา เพื่อช่วยส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนทำประกันภัยสุขภาพมากขึ้น

“มีการซักถามมาว่า การเพิ่มประกันสุขภาพเข้ามาอีก 15,000 บาท ทำไมไม่เอาไปรวมกับเดิมที่ได้ 100,000 บาท เป็นกรอบไม่เกิน 115,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ รมว.คลัง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรได้ไปทบทวนเรื่องนี้และดูข้อมูลแล้วพบว่า ประชาชนจำนวนมากที่มีรายได้ปานกลางจะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักลดหย่อนไม่ครบ 100,000 บาทอยู่แล้ว หากจะเพิ่มขึ้นคนที่ได้ประโยชน์จะเป็นผู้มีรายได้สูง จึงคงกรอบไว้เท่าเดิม เพราะคนที่มีรายได้ปานกลางยังมีช่องที่จะได้ใช้ประโยชน์ได้”