บอร์ด สปสช.รับทราบ “ผลรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ปี 2560” จากกรอบรับฟังความเห็น 7 ประเด็น และประเด็นเฉพาะ 3 ประเด็นย่อย พร้อมเดินหน้ามอบคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป เริ่มตั้งแต่ ต.ค.นี้เป็นต้นไป
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – วันที่ 4 กันยายน 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้รับทราบสรุปผลการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2560 ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พร้อมมอบคณะกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเริ่มนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้การรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ประจำปี 2560 นี้ มีผู้แทนเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นภาพรวมระดับเขตและประเทศ ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการชุดต่างๆ จำนวน 6,864 คน ซึ่งกลั่นกรองความเห็นได้ 384 ข้อ จากการกำหนดกรอบรับฟังความเห็นใน 7 ประเด็นหลัก และเพิ่มเติมในประเด็นเฉพาะ 3 ประเด็นย่อย
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ส่วนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ใน 3 ประเด็นเฉพาะมีข้อเสนอดังนี้
1. การปฏิรูปกองทุนท้องถิ่น อาทิ การจัดการเงินกองทุนคงเหลือสะสม มีความเห็นต่างในข้อเสนอเรื่องการยุบยกเลิกกองทุน การคืนเงิน กรณียุบหรือเงินคงเหลือมาก มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
2. กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) อาทิ ปรับรุงระเบียบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถรองรับการทำงานที่ชัดเจน ครอบคลุมประเด็นด้านชุดสิทธิประโยชน์การดูแลทุกมิติ, ปรับกระบวนการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุฯ ให้มีคุณสมบัติเหมาะสม และเบิกจ่ายงบประมาณในการอบรมจากกองทุนตำบล
3. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง อาทิ สปสช.ร่วมกับ สธ. จัดทำกระบวนการจัดการกลุ่ม ทร.99 ให้เข้าสู่กระบวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลสิทธิบัตรทอง, กลุ่มชาติพันธุ์เสนอเพิ่มในมาตรา 5 บุคคลทุกคนมีสิทธิให้ครอบคลุมคนที่รอพิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น และคนไทยตกสำรวจ และกลุ่มผู้ต้องขังเสนอให้ สธ.มีระบบการดูแลผู้ต้องขังที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาจัดการการดูแลอย่างเป็นระบบ และให้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมและมีมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังกรณีรับบริการในหน่วยบริการ
“การจัดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ระดับประเทศ สปสช.ได้จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยความเห็นที่ได้จากการรับฟังในปี 2560 บอร์ด สปสช.ได้รับทราบ และได้มอบให้อนุกรรมการฯ พิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป” นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความเห็นประจำปี 2560 มีดังนี้
1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต อาทิ ควรเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์, ขยายชุดสิทธิประโยชน์ไตเรื่องยา IVIG ให้ครอบคลุมทุกกรณีไตวาย สนับสนุนการใช้ยา Folic acid ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และเพิ่มสิทธิให้ผู้ป่วยที่มีทวารใหม่ (กลุ่มออสโตเมท) ทุกรายได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เป็นต้น
2. มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ อาทิ พัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการในเขตพื้นที่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนร่วมกันออกแบบแนวทางตรวจสอบ, เพิ่มมาตรฐานการบริการโดยสูติแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง/1 การตั้งครรภ์, การเปลี่ยนระบบประเมินโดยใช้องค์กรภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐาน เป็นต้น
3. การบริหารจัดการสำนักงาน อาทิ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่าย on top หรือการจ่ายเพิ่มเติม และพัฒนาคีย์ข้อมูล CKD (ล้างไตผ่านช่องท้อง) อย่างเป็นระบบ หน่วยบริการทุกระดับดาวน์โหลดข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลได้ทุกสิทธิ, จัดงบค่าตอบแทนการลงทะเบียนสิทธิ์ให้แก่หน่วยบริการ และให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณศุข ศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดตั้ง สปสช.สาขาจังหวัด เป็นต้น
4. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ เสนอกรมราชพัณฑ์เป็นผู้ดูแลงบรายหัวของผู้ต้องขัง, ทบทวนการคำนวนน้ำหนัก DRG ให้เหมาะสมกับกลุ่มโรคและวันนอน, ควรเพิ่มงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็น 5 บาทในระดับเขต และตั้งกองทุนเฉพาะอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย เป็นต้น
5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ อาทิ เพิ่มงบประมาณจัดสรรงบเข้ากองทุน โดยเฉพาะกองทุนดีเด่น, ให้ สปสช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงมหาดไทย พิจารณาระเบียบการใช้งบให้ชัดเจน สอดคล้องกับการทำงานในพื้นที่และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น
6. การมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ เพิ่มผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่, เพิ่มภาคประชาชนในคณะกรรมการ 7x7 และ 5x5, สปสช.ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดให้มีกองทุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น
7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ อาทิ บรรจุเรื่องมาตรา 41 ในหลักสูตรอบรมไกล่เกลี่ยของศูนย์สันติวิธี, เพิ่มอนุกรรมการ มาตรา 41 เป็นสัดส่วนที่มาจาก อสม. 1 คน เสนอเพิ่มตัวแทนหน่วย 50 (5) หรือศูนย์ประสานงานอื่นอีก 1 คน และจัดประชาสัมพันธ์ความรู้ที่มาของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การบริหารกองทุนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น
- 6 views