ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐเกิดขึ้นในเกือบทุกโรงพยาบาลรัฐของประเทศไทย เนื่องจากการให้บริการมีต้นทุนที่สูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยก็มีมากขึ้นอย่างมาก รายรับถึงแม้จะได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาล เงินเดือนของบุคลากร ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาการขาดทุน รัฐบาลก็พยายามจะเพิ่มงบประมาณมาให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ผมมีความเห็นว่าเราควรมาร่วมมือกันลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล โดยที่ประสิทธิภาพการรักษานั้นไม่แตกต่างจากเดิม และต้องหารายได้เพิ่มเติม ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการขาดทุนได้บ้าง เรามาช่วยกันครับ
1. ลดค่าใช้จ่าย โดยการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น ดังนั้นแพทย์เองก็ต้องมีความรู้ ความสามารถที่ดี เลือกการส่งตรวจที่เหมาะสม ผู้ป่วยก็ต้องไว้วางใจแพทย์ และระบบการรักษาของโรงพยาบาล ไม่ควรขอให้แพทย์ส่งตรวจเพิ่มเติมเกินความเหมาะสม
2. ลดค่าใช้จ่ายของการใช้ยา โดยใช้ยาชื่อสามัญ (generic) ให้มากขึ้น แทนการใช้ยาต้นแบบ (original ยาต่างประเทศ) เพราะราคายาแตกต่างกันอย่างมากตั้งแต่ 2 เท่าจนถึง 30 เท่าก็มี จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
3. ลดค่าใช้จ่ายด้านการส่งต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้วสามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ กรณีที่ส่งต่อมารักษาในโรงพยาบาลจังหวัดแล้ว อาการดีขึ้นก็ควรส่งต่อกลับมารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ ซึ่งผู้ป่วยและญาติก็ควรเข้าใจและยอมรับในระบบการรักษาดังกล่าว
4. การสร้างความเข้าใจกับญาติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย ไตวายระยะสุดท้าย ภาวะติดเชื้อในโรงพยาบาลที่รุนแรง เป็นต้น เพราะภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในที่สุด การรักษาในปัจจุบันจะพบว่าญาติมักให้แพทย์รักษาเต็มที่ แต่ไม่ให้ทำการฟื้นกู้ชีพ ซึ่งผู้ป่วยก็เสียชีวิตในที่สุด ในช่วงสุดท้ายของการรักษานั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากจริงๆ มากกว่า 1 แสนบาททุกราย ถ้าญาติผู้ป่วยเข้าใจหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
5. การเข้าร่วมเป็นจิตอาสาของประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ในโรงพยาบาล เช่น ทหารมาร่วมบริการการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้เกษียรอายุราชการมาทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ การแนะนำระบบบริการ การช่วยเหลือผู้ป่วย การร่วมเป็นจิตอาสาจะช่วยประหยัดงบประมาณของโรงพยาบาลด้านค่าใช้จ่าย และยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชน ผู้ป่วยและโรงพยาบาล
6. การพัฒนาระบบแพทย์แผนไทยโรงพยาบาล เพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน และลดภาระของการทำกายภาพบำบัดในบางกรณี
7. การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น เช่น การลงทุนของภาคเอกชนแทนการลงทุนของรัฐเอง เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เครื่องตรวจเลือด
8. การเลือกใช้ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหลักก่อนเสมอ แพทย์ก็ต้องคุยกับผู้ป่วยและญาติให้เกิดความเข้าใจในประเด็นนี้ด้วย ผู้ป่วยและญาติก็ควรให้ความร่วมมือด้วย
9. การร่วมจ่ายค่าตรวจรักษา 30 บาท ก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้โรงพยาบาลได้พอสมควร ลองคิดดูนะครับโรงพยาบาลขนาดเล็กผู้ป่วย 200 คนต่อวัน ก็มีรายรับ 6000 บาทต่อวัน เดือนละ 130 000 บาท ร่วมด้วยช่วยกันครับ
10. การร่วมบริจาคในวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด เลี้ยงรุ่น งานณาปนกิจศพ หรือทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เป็นต้น
ผมเชิญชวนคนไทยทุกคนมาช่วยกันครับ อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
เผยแพร่ครั้งแรก Facebook ส่วนตัวของ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 458 views