เปิดผลวิจัยร้านเหล้ารอบสถานศึกษา นักศึกษาขาดริ้งกว่า 72% ยังคงดื่มต่อและไม่คิดที่จะเลิก แม้มีคำสั่ง คสช.22/2558 ควบคุมร้านเหล้า ปลื้มหลายพื้นที่พบจุดจำหน่ายลดลงเกินครึ่ง หวั่นโปรโมชั่นธุรกิจน้ำเมา ดึงดูดล่อใจนักศึกษา ชี้ความหนาแน่นเอื้อเยาวชนกลายเป็นนักดื่ม
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีเสวนา “ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ใครได้ใครเสียหลัง ม.44” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปีล่าสุด พบว่า ประชากรไทยกว่า18 ล้านคนดื่มสุรา และในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 40 เป็นนักดื่มประจำ โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ที่น่าห่วงคือ กลุ่มนักดื่มร้อยละ 43.2 มีพฤติกรรมดื่มหนัก (ดื่มจนเมาหัวราน้ำ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 48.3) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า (ร้อยละ 23.8ในเพศหญิง) แต่แนวโน้มของเยาวชนหญิงที่ตอบว่ามีพฤติกรรมดื่มหนักในช่วง 30 วันที่ผ่านมากลับมีอัตราสูงขึ้น (ร้อยละ 3.3 ในปี 2550 และร้อยละ 6.8 ในปี 2559)
“หลักฐานทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ชี้ว่าสถานที่ตั้งและความหนาแน่นของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนดื่ม องค์การอนามัยโลกได้เสนอนโยบายที่มีประสิทธิผลและมีผลการวิจัยรองรับว่าปกป้องเยาวชนได้ คือ การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นวิธีการจำกัดขอบเขตทั้งด้านเวลา สถานที่ และลักษณะของผู้ดื่มเพื่อชะลอการเข้าถึงให้ช้าลง จะช่วยลดการดื่ม และลดผลกระทบต่อสังคม” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ผศ.ศรีรัช ลอยสมุทร อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยอายุ 18-25 ปี จาก 5 สถาบันการศึกษา จำนวน 2,000 ราย และสำรวจจุดจำหน่ายสุรารอบมหาวิทยาลัย 19 แห่ง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย กลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารสาธารณะภายหลังคำสั่ง คสช. 22/2558 พบว่า นักศึกษาร้อยละ 72 ยังคงดื่มสุราและไม่คิดที่จะเลิกดื่ม มีพฤติกรรมการดื่มแบบ group drinking ค่าใช้จ่ายในการดื่มประมาณ 18% ของรายได้ และคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติของชีวิตวัยรุ่น
ร้อยละ 81 นิยมไปดื่มร้านเหล้ารอบสถานศึกษา และร้อยละ 91 ระบุว่าสถานศึกษาของตนมีร้านเหล้ารอบสถานศึกษาในระยะที่เดินถึง นักศึกษาร้อยละ 69 ระบุว่าความน่าสนใจของร้านเหล้ารอบสถานศึกษา คือ คอนเสิร์ต โปรโมชั่นและความสะดวก ส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อการมีร้านเหล้ารอบสถาบัน โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติของสถาบันการศึกษาในสังคมไทย
“สำหรับการเปลี่ยนแปลงของร้านเหล้ารอบสถานศึกษา พบว่า ปี2559 เป็นปีที่เห็นผลจากการบังคับใช้คำสั่ง คสช. 22/2558 และมาตรการที่เกี่ยวข้องมากที่สุด สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับประเด็นร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยมากที่สุด โดยพบว่า จำนวนและความชุกของร้านเหล้ารอบสถาบันการศึกษาลดลงในภาพรวมร้อยละ 40 ร้านเหล้าขยับออกห่างจากสถาบันการศึกษาเกิน 300 เมตร ร้านปรับเปลี่ยนการบริการรวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายในด้านการเปิดปิดตามเวลา การควบคุมเสียงดนตรีและการไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการ อย่างไรก็ตาม พบว่า ธุรกิจร้านเหล้ารอบสถานศึกษาหันไปสื่อสารผ่าน social media มากขึ้น และพบว่าร้านเหล้ามีการกระทำผิดมาตรา 30 และ 32 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ในสื่อ social media มากที่สุด รวมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การจัดคอนเสิร์ตที่ร้านเหล้า และในปี 2560 พบว่า การควบคุมจากภาครัฐเริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้หลายร้านกลับมาใช้กลยุทธ์ music marketing ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเช่นเดิม” ผศ.ศรีรัช กล่าว
น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบความชุกของร้านเหล้ารอบสถานศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ และ มรภ.เชียงใหม่ ก่อนและหลังที่มีคำสั่ง คสช. พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับร้านจำหน่ายสุรารอบสถานศึกษา พบว่า ในระยะรัศมี 300 เมตรรอบมหาวิทยาลัยมีจำนวนจุดจำหน่ายลดลงมากกว่าร้อยละ 60 และเมื่อมีการกำหนดเขตโซนนิ่งรอบมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน พบว่า จุดจำหน่ายในเขตโซนนิ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60) เป็นจุดจำหน่ายประเภทร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ที่เหลือร้อยละ40 เป็นร้านเหล้า/สถานบันเทิง จุดจำหน่ายประเภทร้านขายของชำ/ร้านสะดวกซื้อมีระยะห่างจากแนวรั้วม.แม่โจ้เพียงประมาณ 5-6 เมตร รองมาคือ ม.เชียงใหม่ห่างจากรั้วประมาณ10เมตร
น.ส.พวงรัตน์ จินพล อาจารย์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้เรามีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ที่สามารถจัดเก็บพิกัดตำแหน่ง และการกระจายตัวของร้านเหล้าได้อย่างชัดเจน รวมถึงเป็นฐานข้อมูลที่สามารถขยายพื้นที่และค้นคืนข้อมูลที่มีอยู่เพื่อการรายงานได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีเครื่องมือช่วยคำนวณระยะทางได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นด้วยการทำงานของ Google Mapsและกระจายการใช้บริการระบบฯ และการติดต่อสื่อสารให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาทำงานร่วมกันได้ไม่จำกัดสถานที่และเวลา ดังนั้นระบบการเฝ้าระวัง ติดตาม ความหนาแน่นของร้านเหล้ารอบสถานศึกษา จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยเฝ้าระวังร้านเหล้าที่เกิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะในเขตโซนนิ่ง นำไปใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐต่อไปได้
- 834 views