คกก.กระจายอำนาจฯ อนุมัติกันงบ อปท. 3 พันล้านบาท เตรียมอุดหนุนงบกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ปี 62 หากไม่เพียงพอ หลังของบกลาง 2.5 พันล้านบาท จ่ายหนี้ค้างค่ารักษาพยาบาล ปี 61 ส่อแวววืด เหตุใกล้สิ้นปีงบประมาณ ยังไม่มีคำตอบจากสำนักงบฯ พร้อมเสนอแก้ปัญหาระยะยาว ทำศึกษาวิจัยอัตราค่ารักษาพยาบาล อปท.เพื่อรองรับการของบประมาณในอนาคต
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานกรณีงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอ เพื่อรับทราบ ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปีปีงบประมาณ 2560 นี้ คาดว่ามีหนี้ค้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล 2,500 ล้านบาท โดยแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา ตามที่ อปท.ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2561 จำนวน 6,991.81 ล้านบาท ได้เจรจาขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบก้อนแรกจำนวนร้อยละ 70 เพื่อนำมาชำระหนี้ค้างจ่ายและบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานหรือลูกจ้าง อปท.ต่อเนื่อง และอีกร้อยละ 30 จึงจัดสรรให้เดือนแรกในไตรมาส 2
ทั้งนี้หากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปี 2561 ไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านการเงินการคลังและงบประมาณ อปท.จึงได้มีการนำเสนอต่อ คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อกันงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,000 ล้านบาทเพื่อนำมาสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ได้เห็นชอบแล้ว
“การที่ได้เสนอกันเงิน 3,000 ล้านบาทจากคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ก่อนจะมีการกระจายงบให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ เนื่องจากเรากังวลว่าเมื่อถึงปลายปีงบค่ารักษาพยาบาล อปท.ปี 2561 จะไม่เพียงพอ โดยส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้หนี้ค้างจ่ายค่ารักษาในปี 2560 ขณะที่ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอของบกลางอุดหนุนจากสำนักงบประมาณ จำนวน 2,500 ล้านบาท จนถึงวันนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2560 แล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบและมีแนวโน้มไม่เป็นทางการว่าคงไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้ช่องทางนี้แทน”
ประธานอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล อปท. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหาก ครม.อนุมัติงบ 2,500 ล้านบาทในภายหลัง จะสามารถนำงบดังกล่าวมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล อปท.ที่ยังค้างจ่ายได้เลย ส่วนงบ 3,000 ล้านบาท จะนำคืนงบประมาณ อปท.เพื่อนำไปบริหารกิจการท้องถิ่นต่อไป
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลัง เนื่องจากที่ผ่านมาสิทธิการรักษาพยาบาลของ อปท. ยังมีความแตกต่างจากข้าราชการส่วนกลาง ทั้งที่ควรมีสิทธิประโยชน์เดียวกัน อาทิ การรับบริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุมาจากในช่วงการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่มีมุมมองในบางมิติ ทำให้ไม่สอดคล้องกับกระทรวงการคลัง และเมื่อกระทรวงการคลังมีการปรับแก้ระเบียบเพื่อเพิ่มเติมสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ทำให้ในส่วน อปท.ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้สอดรับกัน ซึ่งเรื่องนี้กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการยกร่างแก้ไขเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยต่อไป
ต่อข้อซักถามว่า ในปีงบประมาณ 2562 ทาง อปท.ต้องขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้เพียงพอเพื่อที่จะไม่ต้องกันงบประมาณเพิ่มเติมหรือไม่ นายธีรวุฒิ กล่าวว่า โดยหลักการในทุกปีเราเสนอของบประมาณเผื่อไว้หมดแล้ว เพียงแต่สำนักงบประมาณไม่จัดสรรเงินให้ตามที่เสนอไป โดยตัดงบประมาณทำให้ไม่เพียงพอ ซึ่งหากดูย้อนหลัง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเสนอของบประมาณที่เป็นไปตามเป้าทุกปี แต่ก็ถูกตัดในทุกปีเช่นกัน ดังนั้นวันนี้จึงมีข้อเสนอต่อบอร์ด สปสช.ว่า ในส่วนกองทุนรักษาพยาบาล อปท.อาจต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูล และศึกษาวิจัยทำเป็นเอกสารวิชาการ เพื่อเป็นเอกสารรองรับในการคำนวณงบประมาณรักษาพยาบาลในอนาคต และตอบข้อซักถามของสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันหากดูข้อเท็จจริง วันนี้ค่ารักษาพยาบาล อปท.อยู่ที่ 9,000 บาทต่อคน เป็นจำนวนที่น้อยกว่าข้าราชการมาก
- 6 views